ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทเรียนของผู้แพ้

เรามักหาอ่านเรื่องราวของคนที่ชนะ ประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ง่าย ทั้งหนังสือพิมพ์ รายการทีวี ต่างก็มักจะนำเสนอเรื่องราวของคนเหล่านั้น ซึ่งเกือบ 80% ของเนื้อหามักจะพูดเน้นไปที่สิ่งที่เขาทำแล้วสำเร็จ ซึ่งพอนำเสนอผ่านคำถามของพิธีกร คำตอบมันดูช่างง่ายดาย ราวกับว่าคุณเองก็สามารถทำได้ แต่แท้จริงแล้วผมเชื่อมาตลอดว่ากว่าคนเหล่านั้นจะพบกับคำว่าความสำเร็จ เขาย่อมผ่านการล้มลุกและเจอความล้มเหลวมาก่อน แล้วแน่ใจว่าช่วงเวลาในวังวนแห่งความล้มเหลว กว่าที่ใครคนหนึ่งจะก้าวผ่านมาได้ ย่อมต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน แก้ไขและค้นหา เส้นทางที่จะนำเขาไปสู่ความสำเร็จได้


ส่วนตัวผมชอบที่จะฟังเรื่องราวที่ผิดพลาด เหตุการณ์ที่ล้มเหลว ในยามช่วงที่จิตใจท้อแท้ รวมถึงเหตุการณ์จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาออกจากจุดล้มเหลว ยิ่งเฉพาะวิธีการและแนวคิดที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นมากกว่า การมาสนใจว่าเขาซื้อหุ้นอะไรที่ได้กำไรหลายร้อย % หรือจริงๆแล้ว บางทีเราอาจจะลองเปลี่ยนมาสัมภาษณ์ คนที่ล้มเหลวดูบ้าง เช่นคนที่เล่นขาดทุนจนหมดเงินต้องหันหลังออกจากตลาดไป หรือคนที่ติดดอยหลายปี จนต้องเลิกเทรด การได้ฟังเรื่องคนที่ล้มเหลว จะทำให้เราเรียนรู้ว่าการลงทุนแบบไหนที่ล้มเหลว หนทางแบบไหนที่ไม่ดี


นอกจากการเรียนรู้จากความล้มเหลว จากบทเรียนของนักลงทุนที่พ่ายแพ้ เรายังสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดและความล้มเหลวของตัวเราเองได้ด้วย อย่าบอกนะครับว่าคุณไม่เคยผิดพลาด !!! คนที่ลงทุนแล้วไม่ผิดพลาดมีอยู่สองประเภท ได้แก่ ประเภทแรกคือ คนที่ไม่เคยลงทุน กับประเภทที่สองคือคนตาย ดังนั้นเมื่อคุณผิดพลาด อย่าพยายามลืม แต่จงจดจำแล้วเรียนรู้เพื่อไม่ทำให้ผิดพลาดอีกแล้ว เชื่อผมเถอะครับ เราสามารถให้ตลาดหุ้นเป็นครูเรา สอนบทเรียนที่ผิดพลาดให้เรา เมื่อเรียนรู้แล้วจงจดจำ และที่สำคัญโดยเฉพาะความผิดพลาดในการลงทุน ซึ้งมันมีรูปแบบความผิดพลาดไม่เยอะหรอกครับ ดังนั้นถ้าเรานิยามได้แล้วว่าอะไรผิดพลาด โอกาสที่เราจะพลาดซ้ำก็จะมีน้อยลง(ถ้าเราจำและเรียนรู้จากมันนะ)


ถ้าเรากลัวจะจำไม่ได้ ผมแนะนำให้ทำ Trader's diary จดบันทึกเรื่องราว การลงทุนของเราไว้ บันทึกรอบการซื้อขาย เหตุผลและแนวคิดการซื้อขาย รวมถึงความผิดพลาดในการเทรดเอาไว้ด้วย เพื่อให้เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำลงไป หรือถ้ามีเวลาลองกลับมาทบทวนเพื่อกำจัดจุดอ่อนออกจากตัวเรา รับรองได้ว่าไม่นานเกินรอ คุณจะสามารถพัฒนาตัวเองและเอาตัวรอดจากความผันผวนและโหดร้ายของตลาดหุ้นได้


ต้วอย่าง Trader diary ที่ใช้บันทึกรายละเอียดการลงทุน

การผ่านความล้มเหลว แล้วเรียนรู้จากมัน จนสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการเอาตัวรอด เราเรียกมันว่า "ประสบการณ์" ยิ่งมีประสบการณ์ ก็เท่ากับว่าเป็นตัวชี้วัดความสามารถของนักลงทุนผู้นั้นด้วย ผมคิดว่าคนเก่งในสนามรบแห่งนี้ ไม่ใช่คนที่พยายามเอากราฟราคา มาลากเส้นแล้วเดาว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง โดยพยายามแข่งขันว่าใครเดาแม่นกว่ากัน โดยพยายามอนุมานว่า คนที่เดาได้แม่นมาก อธิบายได้ซับซ้อนมากนั้นเป็นคนเก่ง แต่เชื่อเถอะครับ คนเก่งแบบนี้มีมาก เพราะความต้องการการยอมรับจากคนรอบข้างเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่การจะวัดว่าเก่งจริงหรือไม่ ต้องใช้เวลาเป็นเรื่องพิสูจน์ และใช้ความสำเร็จระยะยาวที่ต่อเนื่องเป็นตัวชี้วัด ถ้าเพิ่งเริ่มรู้จักตลาดหุ้นไม่ถึงปี ไม่เคยเจอวิกฤตการเงิน ไม่เคยผ่านความผันผวนของตลาด อย่าเพิ่งสรุปว่าตัวเราเก่ง เพราะเมื่ออัตตามันมาครอบงำจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุน เมื่อนั้นความล้มเหลวก็จะมาเยือน และพาท่านออกจากตลาด


ส่วนคนที่ล้มเหลว อยากให้กำลังใจขอให้ ฮึดสู้ไม่ถอย ล้มแล้วลุกเอาใหม่ (ไม่ใช่เอาอยู่ เอาอยู่ แล้วล้มเหลวโดยแก้ไขปัญหาไม่ได้) จริงๆตัวอย่างที่ดีของการล้มแล้วลุก ผมขอยกตัวอย่างคุณตัน อิชิตัน ที่ล้มหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ คุณตันแนะนำว่าการล้มเหลวนิแหล่ะดี ทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่างบนพื้น เวลาล้มไม่ต้องรีบลุก แต่ต้องพยายามเก็บของที่อยู่บนพื้นได้มากที่สุด นั้นก็คือการมองให้เห็น เรียนรู้กับอุปสรรค์ ปัญหา และความล้มเหลว ต้องพยายามพัฒนาตัวเองแล้วเดินหน้าไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จให้ได้ครับ