ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เรื่องค่า Beta

บ่อยครั้งที่หลายคนอยากรู้ว่า หุ้นตัวที่ตนเองสนใจนั้นมันน่าที่จะเข้าไปลงทุนแล้วหรือยัง แน่นอนว่าถ้ามีเครื่องมือ ดูจังหวะจากกราฟได้ก็คงไม่ยาก แต่ถ้าไม่ใช่แนวเทคนิคจ๋า แต่อยากเลือกหุ้นเพื่อลงทุนยาว โดยมองหาจังหวะดีๆ ผมมีอีกหนึ่งค่าที่ใช้ประมาณการคราวๆได้มาแนะนำ ค่าที่ว่าคือค่าเบต้า(Beta) นั้นเองครับ


เบต้าที่ว่าไม่ใช่ครีมทาหน้าแต่อย่างใด แต่มันคือ ค่าสัมประสิทธ์ตัวเปรียบเทียบระหว่างหุ้นกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์(SET) เพื่อดูแนวโน้มอย่างไร ซึ่งมีที่มาจากสมการเส้นตรงบนระบบสมการแบบ linear system equation แน่นอนว่าท่านสามารถคำนวนได้เองจากโปรแกรมคณิตศาสตร์เช่น Matlab หรือจะคำนวณแบบอเรย์เพื่อหาจาก Gauss-Elimination ด้วยมือก็ได้ ที่ชี้ประเด็นนี้เพราะจะบอกว่ามันคือคณิตศาสตร์ ราคาหุ้นก็คือข้อมูล ชุดตัวเลข อย่าไปมองว่าเป็นไสยศาสตร์หรือโชคลางแต่อย่างไร ง่ายไปกว่านัั้นแบบทั่วไปท่านสามารถอ่านค่านี้ได้จากตารางหุ้นในหนังสือพิมพ์ หรือจะดูจากโปรแกรมเทรดหุ้นเช่น efinance ก็ได้


สมการ

y = a + bx

เมื่อ
y คือ ราคาหุ้น
x คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์
a คือ ค่าอัลฟ่า (alpha)
b คือ ค่าเบต้า (beta) หรือคือค่าความชันของสมการเส้นตรงนั้นเอง





การตีความหมายจากสมการ
-กรณีค่าเบต้าของหุ้นตัวนั้น เท่ากับ 1
หุ้นตัวนั้นจะขึ้น-ลงแปรผันตรงโดยตรงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อธิบายง่ายๆ SET ขึ้น หุ้นตัวนั้นก็ขึ้น SET ลงหุ้นตัวนั้นก็ลง

-กรณีค่าเบต้าของหุ้นตัวนั้น มากกว่า 1
หุ้นตัวนั้นจะขึ้น-ลงเร็วกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แปลว่ามีความไว ทำให้เกิดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่มาก (นักเก็งกำไรจะชอบพวกนี้)

-กรณีค่าเบต้าของหุ้นตัวนั้น น้อยกว่า 1
หุ้นตัวนั้นจะขึ้น/ลงช้ากว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เป็นพญาเต่านอนนิ่ง ไม่ไหวติงข้อดีคือปลอดภัยเพราะราคาไปตามสภาพของตัวผลประกอบการธุรกิจแบบช้าๆ ไม่แกว่งตามสภาวะตลาด (นักลงทุนแบบระยะยาวจะชอบเพราะปลอดภัย ความเสี่ยงน้อย)

-กรณีค่าเบต้าของหุ้นตัวนั้น น้อยกว่า 0 (ติดลบ)
หุ้นตัวนั้นจะขึ้น-ลงแบบผกผันกับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อธิบายง่ายว่า ตลาดลง หุ้นจะขึ้น ตลาดขึ้น หุ้นจะลง ถ้าชอบดีใจ เสียใจแบบตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ ก็น่าจะชอบหุ้นกลุ่มนี้ครับ

ค่าเบต้าของหุ้นแต่ละตัวจะไม่เสถียร (Unstable) เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา ซึ่งปัจจัยภายนอกจากตลาด, ผลประกอบการ,การคาดหวังต่อข่าว ก็จะมีผลต่อค่าเบต้าและที่สำคัญการคำนวณ ค่าเบต้ายังสามารถคำนวณได้ในรูปแบบ คาบเวลาต่างๆ เช่น 6,30, 90 , 120 วัน โดยค่าก็จะแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา



ตัวอย่างค่า Beta ตามคาบเวลา


ราคาหุ้น SMT มีค่า Beta(6) ติดลบเมื่อเทียบกับการเคลื่อนตัวของดัชนีตลาด

การใช้ประโยชน์จากค่าเบต้า
1. การเลือกหุ้น กรณีในกลุ่มอุตสหกรรมเดียวกัน บางครั้งปัจจัยความเสี่ยงก็สามารถนำมาใช้ในการชี้วัดการเลือกหุ้นเพื่อลงทุนได้ ดังนั้นการคำนวณค่า Beta เพื่อวัดความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวเทียบดัชนี เพื่อหาหุ้นที่ค่า Beta น้อยๆก็จะทำให้การลงทุนปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะโดยทั่วไปหุ้นที่มีค่าเบต้าน้อย จะมั่นคงไม่ไหวไปตามตลาด มีเงินปันผลที่ดี มีสภาพธุรกิจที่ดี


การเปรียบเทียบค่า Beta ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

2. ค่า Beta ยังบ่งบอกถึงแนวทางการลงทุน หุ้นที่ค่า Beta สูงมีความผันผวน และมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนสูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นช่วงตลาดขาขึ้น การลงทุนในหุ้นที่มีค่า Beta สูงก็จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า(บนความเสี่ยงที่เพิ่มตามสภาวะตลาดด้วยเช่นกัน) ในขณะเดียวกันการที่ตลาดขาลง เศรษฐกิจผันผวนไม่แน่นอน มีปัจจัยการเมืองกดดัน การเลือกหุ้น Beta ต่ำๆย่อมก่อให้เกิดความปลอดภัยและลดความเสี่ยงลงได้

3. ใช้การจัดการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยทำการวัดค่า Beta ของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ต และคำนวณหาค่า Beta รวมเพื่อประเมินความเสี่ยง กรณีที่มีความเสี่ยงสูง ก็อาจจะปรับผลหุ้นตัวที่มีค่า Beta เพิ่มมากขึ้นในขณะเวลานั้นออก และซื้อหุ้นที่มีค่า Beta ต่ำเข้ามาแทนเพื่อ รักษาระดับความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน หรือกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยลงทุนทั้งหุ้นกลุ่ม Beta สูงและหุ้น Beta ต่ำปนกันไป

สรุป
การซื้อหุ้นจะไปดูแต่ราคาเป้าหมาย หรือซื้อตามแรงเชียร์ของผู้ที่เป็นกูรูไม่ได้ การวางแผนกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จระยะยาวนะครับ อย่าไปคิดว่าจะรวยในวันนี้พรุ่งนี้จำไว้เสมอว่าเราลงทุนเพื่อความมั่นคงในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้าคิดแบบนี้จะมีสติ และลงทุนได้แบบมีประสิทธิภาพดีในระยะยาวครับ