ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ขาดทุนไม่ใช่เรื่องแปลก

ช่วงนี้ถ้าพูดเรื่องขาดทุน คงจะเป็นของแสลงของใครหลายคน อันด้วยมาจากดัชนีที่ดิ่งตกลงเหวแบบไม่มีใครขาดคิด ผมไม่เห็นใครที่ไหนมาเตือนเลยว่าระวัง SET จะย่อตัวนะ จนกระทั้งมาเจอเหตุการณ์ ช๊อคชินิม่า ทำเอาหลายคนอึ้งกิมกี่ ไปตามๆกัน



สิ่งที่ทำได้คงไม่ใช่การไปโทษฟ้า โทษดิน โทษฝรั่งว่าขายได้ยังไงกัน ไม่บอกกันล่วงหน้า (เอ้า ถ้าบอกกันล่วงหน้าจะขายได้ ราคาไหมอ่ะครับ) ผมเองคิดว่าเราควรโทษตัวเองมากกว่าที่ไม่ได้มีแผนสำรองรับมือเหตุการณ์แบบนี้ มันขายกับน้ำท่วมที่ผ่านมา เราไม่คิดว่ามันจะท่วม เลยไม่ได้รับมือเมื่อภัยมาถึงตัวก็สายเสียแล้ว


การขาดทุน ไม่ใช้เรื่องแปลกครับ ตลอดการลงทุนมาคนที่ไม่เคยขาดทุน ไม่มีหรอกแม้แต่นักลงทุนระดับโลก ก็ยังขาดทุน สิ่งสำคัญไม่ใช่การหลีกเลี่ยงขาดทุน คนที่กลัวขาดทุน ควรเอาเงินไปฝังดินหรือฝากธนาคาร(จริงๆก็ขาดทุน เงินเฟ้อนะ) การลงทุนในหุ้น ยังไงก็มีโอกาสขาดทุน สิ่งสำคัญคือการจำกัดความเสียหายและ จำกัดโอกาสการขาดทุนต่างหาก


จำกัดโอกาสการขาดทุน
การจำกัดโอกาสการขาดทุนทำได้โดย การเลือกลงทุนในเกมส์ที่เรามีโอกาสชนะสูงมากกว่าแพ้ มี win/lose ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 1 เช่นโอกาสชนะ 50% โอกาสแพ้ 50% แบบนี้พอรับได้ แต่การที่เราเล่นในเกมส์ที่เราไม่ถนัด เกมส์ที่เวลาและทรัยากรไม่พร้อม โอกาสแพ้ย่อมมากกว่าชนะ ถ้าไม่ชอบอ่านกราฟ ไม่ชอบเฝ้าตามราคาทุกวัน คุณก็ควรเป็น VI หรือลงทุนระยะยาว หรือถ้าชอบความเสี่ยง ปานกลาง มีเวลาดูหุ้นไม่มากก็ลงทุนระยะกลางรายไตรมาสอ่าน บทวิเคราะห์และซื้อหุ้นแบบ DCA ก็ได้


ยกตัวอย่างชัดๆเช่น คนที่ไม่มีเวลาตามหุ้น แต่ชอบเล่นหุ้นรายวัน กลางวันทำงาน ฝากมาร์ดู(ลืมไปนึกว่ามาร์มีลูกค้าคนเดียว) แบบนี้ win/lose ratio น้อยกว่า 1 เพราะเวลาคุณไม่อำนวย แต่ดันไปเล่นในเกมส์ที่ซื้อขายเร็ว หรืออีกกรณีคนที่ชอบเล่นหุ้นตามข่าว ข่าวลือข่าวปล่อย ถ้าคุณไม่ได้เป็นเมียหรือญาติผู้บริหาร คุณรู้ข่าวพร้อมคนอีกเป็นพันจากหนังสือพิมพ์หรืออินเตอร์เน็ต แบบนี้อย่าได้ไปเล่นเชียว เพราะไม่ต่างอะไรกับหมูที่วิ่งเข้าชนปังตอ เล่นยังไงก็ขาดทุน


การประเมินตัวเองเป็นกลยุทธสำคัญในการลงทุนครับ รวมถึงการประเมินความสามารถของระบบการเทรด ด้วยการทำ Back Test และ Forward Test เพื่อหา %Win โดยค่าความน่าจะเป็นที่จะชนะก็สามารถนำมาคำนวณ Win/Lose Ratio เพื่อช่วยตัดสินใจในการลงทุนแต่ละครั้งได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าระบบดีๆที่ตัดเรื่องอารมณ์ออกจากเกมส์ โอกาสที่จะ win ถึง 70% ก็มีสูง


จำกัดความเสียหายจากการขาดทุน
มันไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการขาดทุน แล้วไม่จำกัดการขาดทุนปล่อยให้เงินทุน ค่อยหายไปหรือเน่าเสียไป หลายคนอาจจะเถี่ยงว่า ไม่มีทางเป็นไปได้เพราะหุ้นไม่ขายไม่ขาดทุน วลีที่ใช้หลอกแมงเม่าหน้าใหม่ ผมเองไม่เคยเชื่อในคำนี้ เพราะว่าการไม่ขายหุ้น นั้นไม่ได้แปลว่าไม่ขาดทุน แท้จริงแล้วคุณขาดทุนทางโอกาส มีค่าเสียโอกาสของเงิน แทนที่จะนำไปลงทุนในครั้งใหม่ให้ได้กำไรเพิ่ม ถ้าคุณคิดว่าหุ้นดีไม่ขายไม่ขาดทุน อาจจะลองไปคุยกับคนที่มี PTT ตอนปี 2007 ที่ราคา 400 กว่าบาท หรือไปคุยกับคนที่ถือ TTA ตอนปี 2008 ที่ราคา 40 บาท โอกาสที่จะกลับไปอาจจะมี แต่ค่าเสียโอกาสของเงินก้อนนั้นที่เสียไปล่ะครับ ??? ยิ่งบางคนกู้เงินจากแหล่งเงินที่อื่นมาเล่น ดอกเบี้ยย่อมต้องเสียไปอยู่ดี


เทคนิคการจำกัดขาดทุนง่ายๆที่คลาสิกคือการ Cutloss หรือที่เรียกง่ายๆว่าการตัดขาดทุน มันเปรียบเสมือนการตัดนิ้วรักษาชีวิต มันไม่ได้น่ากลัว หรือเลวร้ายจนเรารับไม่ได้ แต่คนทั่วไปที่ทำไม่ได้เพราะขาดระบบที่ดี คือชอบมาตัดขาดทุนตอนเสียไปแล้ว 20% - 50% แล้วพอตัดหุ้นก็เด้งขึ้นทำให้เสียความมั่นใจและเซ็งตัวเอง ปัญหาไม่ได้เกิดจากการ Cutloss แต่มันเกิดจากคุณ cutloss ช้าเกินไป


เทคนิคการ Cutloss
ฟังเหมือนง่าย แต่ทำยากสิ่งที่ยากคือเรื่องของ "จิตใจ" โดยเฉพาะคุณผู้หญิง มีคนบอกผมว่าผู้หญิง Cutloss ยากกว่าผู้ชาย ไม่รู้จริงไหม คงต้องสำรวจกันต่อไปเรื่องความสามารถในการรับการขาดทุน แต่ผมมีวิธีคิดง่ายๆของการตัดขาดทุนมาแนะนำ


1. ประเมินความสามารถของการรับการขาดทุน
วิธีประเมินการรับการขาดทุนง่ายๆคือ คิดจากเงินจำนวนหนึ่งที่ เราซื้อของแล้ว รู้สึกไม่เสียดาย???
เช่น ถ้าผมซื้อ โทรศัพท์มือถือ Iphone 4G ราคา 30000 ผมไม่เสียดายเลย หรือผมซื้อจักรยานยี่ห้อดาฮ่อนราคา 25000 ผมรู้สึกว่าไม่เสียดาย ให้เอาเลขนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วคำนวณหา ต้นทุนในการลงทุนแต่ละครั้งของคุณ เช่น
ผมสามารถตัดขาดทุนได้ 30000 บาท ดังนั้น
-ลงทุน 300,000 บาทโดย Cutloss ที่ 10%
-ลงทุน 600,000 บาทโดย Cutloss ที่ 5%
-ลงทุน 1,000,000 บาทโดย Cutloss ที่ 3%


โดยทั่วไปการตั้ง Cutloss ความเหมาะสมขึ้นกับเทคนิคการเข้าซื้อ อย่าเช่นหุ้นเก็งกำไร ระยะสั้น ถ้าซื้อแล้ว ราคาลดลงเกิน 5% ก็ควรออกมาดูทิศทางลม หรือทบทวนเหตุผลได้แล้วเพราะโดยทั่วไปหุ้นเก็งกำไรซื้อแล้วไม่ขึ้นแปลว่ามีปัญหา หรือข้อผิดพลาด(ยกเว้นไปซื้อตอนขาลงนะครับ)


การ Cutloss นอกจากจะกำหนดในรูปแบบ % ที่ตายตัวแล้วเรายังสามารถสร้างจุด Cutloss หรือ Trilling Stop จากเครื่องมือทางเทคนิคเช่น ATR ได้อีกด้วย โดยจะยืดหยุ่นและสอดคล้องกับเทรนด์ของราคามากกว่า โอกาสหน้าจะเอามาแนะนำกันครับ




2. แก้ที่จิตใจ
โดยพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์คือ จะไม่ยอมรับหรือยากที่จะยอมรับความล้มเหลว หรือการขาดทุน ดังนั้นการแก้ในส่วนนี้เพื่อให้ง่ายต่อการคิด คือเราต้องใช้ระบบตระกร้าเงิน


ระบบนี้ผมเองคิดขึ้นมาเพื่อใช้กับตัวเองสมัยลงทุนแรกๆที่ทำใจได้ยากจะยอมรับการตัดขาดทุน ดังนั้นจึงแก้ด้วยการสร้างตะกร้าเงินสำรองขาดทุนขึ้นมา หลักการง่ายๆให้ใช้เงินที่กำไรสร้างเป็นตะกร้าเงินสำรอง เน้นนะครับว่าต้องกำไร เพราะมันจะได้ผลทางจิตวิทยาว่า นำกำไรมาลงทุน ดังนั้นเมื่อ ขาดทุนหรือต้องตัดขาดทุนจะเป็นการขาดทุนกำไร การสร้างตะกร้าเงิน วงเงินอาจจะมากว่า จำนวนเงินที่จะตัดขาดทุน นิดหน่อย เช่น ผมรับการตัดขาดทุนได้ 30000 ตะกร้าเงินก็จะมีขนาด 30000 + 10000 เอาไว้เผื่อขาด เป็นต้น


คนส่วนใหญ่ได้กำไรแล้ว มักจะไม่เก็บอาจจะนำไปลงทุนต่อ หรือนำไปใช้จ่าย ซื้อของ ให้รางวัลกับตัวเอง แต่การที่เราสร้างตะกร้าเงินด้วยกำไร มันจะช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้กับมือใหม่ๆ มากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าไปลงทุน โดยที่ไม่ต้องกังวลกับความกลัวที่จะขาดทุนจนหมดตัว หรือหมดเงินเก็บสะสมที่สร้างมา (นั้นคือเหตุปั่นทอนจิตใจมากที่สุด และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมักไม่ประสบผลสำเร็จในการลงทุน)


Risk Reward Ratio
หลายคนมักยังมีความลังเลใจว่า เอ๊ะ ถ้าต้องตัดขาดทุนบ่อยๆไม่เจ๊งตายหรือ??? คำตอบคือก็อาจจะเจ๊ง แต่ไม่ถึงตาย ลองคำนวณหา risk reward ratio ให้ดูเพื่อจะได้เห็นว่าการ Cutloss ไม่ได้เลวร้ายยังที่คิด มีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดราคาเป้าหมายหุ้น (แนวต้าน หรือหาจาก Fibonacci)
2. กำหนดราคาซื้อที่ต้องการ(ตำแหน่งเข้าบนสัญญาณซื้อจากระบบ)
3. กำหนดจุด ตัดขาดทุน  


ตัวอย่าง ซื้อหุ้น S11 ที่ 10 บาท จำนวน 100,000 หุ้น มีกำหนดราคาเป้าหมายที่แนวต้าน 15 บาท กำหนดจุดตัดขาดทุน ที่ 5% หรือ ที่ราคา 9.5 บาท ดังนั้น ค่า risk reward ratio เท่ากับ
(15-10)/(10-9.5) = 10 เท่า


โดยหมายถึง เรามีโอกาสที่จะได้ 5 บาทต่อการสูญเสีย 0.5 บาท ต่อหุ้น กรณีนี้
-ถ้าลงทุนแล้วชนะ 1 ครั้งคุณจะได้ 5 บาทต่อหุ้น
-ถ้าลงทุนแล้วแพ้ 1 ครั้งคุณจะขาดทุน 0.5 บาทต่อหุ้น


ดังนั้นโอกาสที่คุณจะเสียเงินถึง 5 บาทต่อหุ้น(เท่ากับกำไรหนึ่งครั้ง) คุณต้องขาดทุนแล้วตัดขาดทุนถึง 10 ครั้ง แน่นอนว่าถ้าคุณขาดทุน 10 ครั้งติดก็ควรจะหยุดลงทุนเพื่อทบทวนแผนการลงทุนก่อนแล้ว


และถ้าราคาทะลุผ่านแนวรับที่เราวางไว้ก็ปล่อยให้ Let profit Run ไปได้เลยแบบสบายใจ


รู้จัก Protect Profit
บางครั้ง การที่ราคาวิ่งไปเรื่อยๆแบบ Let Profit Run สบายๆใจ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะวางใจได้เสมอไป เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือตลาด Crash แบบที่ผ่านมา กำไรที่ได้อยู่ดีๆก็พลันหายไป โดยเครื่องมือทางเทคนิคอลยังไม่ทันได้เตือน เนื่องจากแรงเทขายที่มากและรวดเร็วในช่วงวันไม่กี่วัน(TF=Day) ดังนั้นเราควรวางกลยุทธ Protect Profit ไว้คราวๆ เช่น ถ้ากำไรมันลดลง 5% โดยที่ไม่มีสัญญาณขายจากระบบ แปลว่ามีปัญหา ควรจะทยอยรับรู้กำไร หรือขายออกมาก่อน ดีกว่าปล่อยให้กำไรสูญหายไป หรือมาขายตอนมีสัญญาณขายทางเทคนิค ซึ่งนั้นอาจจะไม่ทันการณ์แล้ว


บางคนอาจจะใช้ ATR ช่วย โดยสังเคราะห์การผันผวนของราคาระยะสั้นเทียบกับ พฤติกรรมการเคลื่อนตัวของราคาตอนตลาดปกติ ถ้าราคาเกิดลดลงเร็ว เกินจุดขาย เพื่อ Protect Profit ก็ควรขายหรือทยอยขายออกมาก่อนเพื่อป้องกันความเสี่ยง



สรุป
การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ หัวใจสำคัญคือการจำกัดความเสี่ยง การตัดขาดทุน(Cutloss) ช่วยลดความเสี่ยงในการติดหุ้น การเสียค่าเสียโอกาสจากการที่ต้องถูกแช่งแข็งนานๆ และเพิ่มโอกาสการเข้าลงทุนในหุ้น ทำให้เราลดความกังวลในการสูญเสีย ที่สำคัญ เราต้องรู้จักวางแผนในการตัดขาดทุนให้เหมาะสมกับต้นทุนและจิตใจของเรา ไม่ควรตัดขาดทุนเมื่อเห็นว่าขาดทุนลึกเกินไปและเวลาผ่านไปนานแล้ว เพราะวิธีการตัดขาดทุนนั้นไม่ได้ช่วยให้แก้ไขสถานะการณ์ให้ดีขึ้นได้