ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

แนวรับแนวต้าน ตอนที่ 2

ตอนที่สองนี้ ผมขอกล่าวถึงวิธีหาแนวรับ แนวต้านที่นิยมใช้ สองวิธีหลักๆคือการใช้ Fibonacci และการใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ สองวิธีนี้เป็นวิธีการที่ใช้เครื่องมือคณิตศาสตร์มาช่วยทำให้เรามองแนวรับแนวต้านบนแนวโน้มใหญ่ได้ง่าย
การหาแนวรับแนวต้าน

วิธีการหาแนวรับ-แนวต้านของราคาหุ้น เราสามารถหาได้หลายวิธีขึ้นกับเทคนิคที่ผู้วิเคราะห์จะเลือกใช้ เช่นการใช้ Fibonacci, การใช้ค่าเฉลี่ยแบบหลายช่วงเวลา, การใช้เทคนิค Pnt,การใช้ trend line ย่อยก่อนหน้าและอื่นๆ ผมขอให้แนวคิดไว้ว่า แนวรับแนวต้านนั้นเป็นเพียงจุดสังเกตที่ทำให้นักลงทุนทราบถึงสถานการณ์และการเคลื่อนตัวของราคาตามแนวโน้มเปรียบดั่ง เสาหลักกิโลเมตร ทีเอาไว้ให้เราบอกตำแหน่งบนเส้นทาง(บนแนวโน้ม) ดังนั้นผมขอยกตัวอย่างภาพการหาแนวรับแนวต้าน คราวๆดังนี้ครับ



1. การใช้ Fibonacci retracement
คือวิธีการใช้สัดส่วนของ Fibonacci มาเป็นตัวกำหนดแนวรับ แนวต้านเพื่อใช้เป็นเส้นสังเกต หลักการใช้งานก็คือการลากจากจุดสูงสุดไปต่ำสุด หรือลากจากต่ำสุดมายังสูงสุดของแนวโน้มก่อนหน้า แล้วแต่แนวโน้มขาขึ้นหรือลง เพื่อนำเอา % มาใช้เป็นตัวกำหนดแนวรับหรือแนวต้าน ในแนวโน้มที่เกิดขึ้น

เมื่อหุ้นมีการขึ้นหรือลงอย่างมีนัยสำคัญช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ราคาจะมีการกลับตัวระยะสั้นเช่นการดีดตัวหรือการย่อตัว ช่วงการเกิดนี้มักจะเกิดใกล้กับเส้นแนวรับแนวต้านที่มาจากสัดส่วนของ Fibonacci จึงมีการนำสัดส่วนนี้มาใช้ นอกจาก Fibonacci retracement ยังมีการใช้ Fibonacci Fan, Fibonacci Arc


2. การใช้ ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่
คือวิธีการใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของราคาหุ้น ตามจำนวนวันต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของช่วงระยะเวลา มาเป็นแนวรับแนวต้าน สามารถอนุมานได้ว่า หุ้นที่มีพื้นฐานดีไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานัก เมื่อเข้าสู่ทิศทางขาลง ถูกเทขายจากนักลงทุนระยะสั้น เมื่อราคาวิ่งลงมาถึงระดับที่ควรจะเป็นหรือสะท้อนพื้นฐาน ก็จะมี นักลงทุนระยะยาวมาเก็บหุ้น ทำให้ราคาหุ้นไม่ไหลงต่อ

เช่นเดียวกันกรณีหุ้นขึ้น ก็มักจะมีการเทขายทำกำไร เป็นช่วงๆจากนักลงทุนระยะสั้นทำให้เกิดแนวต้านขึ้น ดังนั้นจึงมีการเอาเทคนิคของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบหลายช่วงเวลามาใช้ โดยแบ่งกลุ่มเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เป็น สั้น กลาง ยาว โดยใช้จำนวนวันเป็นตัวแบ่ง

กรณีแนวโน้มขาขึ้น แนวต้านเป็นเส้น ค่าเฉลี่ยวันยาว ไปถึงค่าเฉลี่ยวันสั้น ในกรณีแนวโน้มขาลง แนวรับเป็นเส้นค่าเฉลี่ยวันสั้น ลงไปเส้นค่าเฉลี่ยวันยาว 



ประโยชน์และการนำไปใช้งาน
1. ใช้เป็นจุดสังเกตการณ์เข้าซื้อและขายหุ้น โดยใช้เส้นแนวรับ แนวต้านพิจารณาควบคู่ไปกับแนวโน้มของราคาในปัจจุบัน ไม่เน้นที่การเดาอนาคต โดยใช้วิธีการเฝ้าติดตามราคาในจุดสังเกตที่เป็นแนวรับแนวต้าน ดูการย่อหรือเด้งของราคา และความแข็งแกร่งของแนวรับแนวต้าน ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแนวโน้ม

2. พิจารณาแนวรับ แนวต้านร่วมกับดัชนีอื่นๆเช่น RSI เพื่อดู over bought หรือ Over sold บนเส้นแนวรับและแนวต้าน โดยตรงนี้อาจจะใช้ในการลงทุนระยะสั้นเพื่อ บอกถึงการมีนัยยะของราคาบนเส้นแนวรับและแนวต้านนั้น

3. ใช้เส้นแนวรับ ในการเป็นจุด Stop loss เพื่อตัดขาดทุน กรณีที่ราคาหลุดเส้นแนวรับสำคัญที่เราพิจารณาไว้ หรือขายทำกำไรเมื่อราคาไม่สามารถผ่านเส้นแนวต้านสำคัญได้และแสดงสัญญาณการกลับทิศแนวโน้ม

4. พิจารณาคุณภาพของแนวรับแนวต้าน สามารถดูข้อมูลแวดล้อมอื่นๆประกอบได้เช่น Volume ปริมาณการซื้อขาย ณ แนวรับแนวต้านที่มีการ ทะลุหรือย่อลง ,การวาง bid offer ณ ราคาที่เป็นแนวรับ แนวต้าน

5. สามารถใช้แนวรับแนวต้านเก่า ของรอบก่อนหน้ามาใช้พิจารณาร่วมด้วย หรือถ้าเป็นราคาเดิมที่เคยเป็นจุดแนวรับ แนวต้านมาก่อน ยิ่งทำให้แนวรับแนวต้านนั้นมีนัยมากยิ่งขึ้น

6. GAP ที่เกิดจากการสนองตอบของราคาแบบรวดเร็วจากข่าว หรือผลทางจิตวิทยาตลาดสามารถนำมาใช้เป็นแนวรับแนวต้านได้

7. จุดสูงสุดหรือต่ำสุดเก่า สามารถนำมาใช้ในการเป็นเส้นแนวรับ แนวต้านเพื่อพิจารณาในแนวโน้มปัจจุบันได้ เนื่องจากมันมีผลทางจิตวิทยาเมื่อ ราคาสามารถชนะหรือแพ้แนวรับแนวต้านนั้น

8. สามารถใช้แนวรับ แนวต้านเดียวกัน บนต่างแนวโน้ม ต่าง Time frame ของกราฟราคาได้ เพื่อใช้พิจารณาการเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคา ในระยะสั้นและระยะยาว โดยอิทธิพลของแนวโน้มระยะสั้น (เช่นกราฟนาที) ที่กระทำต่อแนวรับหรือแนวต้าน จะมีผลต่อเนื่องมายังแนวโน้มราคาในระยะยาว (เช่นระดับวัน) โดยเราสามารถใช้แนวรับ แนวต้านเป็นเส้นโยงยึดในการพิจารณา sate of trend และพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มในระยะสั้นเพื่อคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดระยะยาวได้