ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

จุดบรรจบของเทคนิคคอลและพื้นฐาน C-A-N-S-L-I-M # 2

ตอนที่สอง ผมจะกล่าวถึงเทคนิคการลงทุนแบบ C - A - N - S - L - I - M ของคุณ วิลเลียม โอนิล (William O’Neil) ปรมาจารย์ด้านการลงทุนของโลกอีกท่าน ผมชอบเทคนิควิธีนี้เพราะเป็นการผสมผสานทั้งเรื่องของปัจจัยพื้นฐาน การเติบโตของธุรกิจ บวกกับการพิจารณาแนวโน้มราคาหุ้นและแนวโน้มตลาด ควบคู่กันในการลงทุน ผมนำเอาเทคนิคนี้มาประยุกต์และใช้ในการลงทุนระยะยาวของตัวเอง 


โดยประยุกต์เอาแนวคิดและเทคนิคบางอย่างใส่ลงไปด้วย เพื่อให้เหมาะกับสภาวะตลาดหุ้นบ้านเราและเหมาะกับจริตการลงทุนของตัวผมเอง สิ่งที่เขียนในหัวข้อนี้เป็นเพียงตัวอย่างการประยุกต์เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว เพื่อนๆสามารถศึกษาหลักการของ C - A - N - S - L - I - M ให้เข้าใจและลองนำไปประยุกต์ใช้ดูครับ



C - A - N - S - L - I - M ประกอบด้วยตัวแปรที่ต้องพิจารณา 7 ตัวได้แก่ 

1. C= Current quarterly earnings per share.
2. A = Annual earnings per share.
3. N = New product/management/price high.
4. S = Supply/Demand: Small Cap + Volume
5. L = Leader
6. I = Institutional Sponsorship
7. M = Market Direction

โดยจำแนกปัจจัยหลัก 5 ด้านคือ งบการเงิน,สภาพคล่อง,ผลิตภัณฑ์และการแข่งขันในตลาด,สภาวะตลาดและความเป็นที่ต้องการ เพื่ออธิบายวิธีการประยุกต์ใช้งาน

การเติบโตของงบการเงิน
ในสองตัวแปรคือ C และ A มีการพูดถึงการพิจารณาในส่วนของ ผลกำไรไตรมาสก่อน(C) และ กำไรต่อปีเพิ่มขึ้น(A) โดยในหลักการของ C - A - N - S - L - I - M แนะนำให้หาหุ้นที่มีกำไรเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้า 40-500% และมีการเติบโตต่อเนื่อง 5 ปีปีละไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งในสภาวะตลาดปัจจุบันและสภาพเศรษฐกิจแบบนี้การหาหุ้นตามเงื่อนไขนี้เป็นไปได้ยาก 

เรื่องของกำไรตัวผมยังพิจารณาในเรื่องของการเติบโตของงบการเงิน แต่ผมใช้การพิจารณาที่ลดระดับลงคือ ผมใช้การเติบโตของไตรมาสก่อนหน้าเพียง 1 ไตรมาส(%QoQ)และเติบโตเทียบระหว่างไตรมาสปัจจุบันกับไตรมาสปีก่อนหน้า 3 ไตรมาส(%QoQY) และดูการเติบโตของกำไรระดับปีที่เติบโตต่อเนื่อง 3 ปี(%YoY) จากนั้นก็ใช้โปรแกรม Scan เพื่อจำแนกหุ้นในปัจจัยแรกออกมา

สภาพคล่อง
ตามหลักอุปสงค์อุปทาน หุ้นดียิ่งมีน้อยราคายิ่งวิ่งแรง และหุ้นดีที่อยู่ในสายตาของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ในช่วงแรกๆ ปริมาณการซื้อสะสมมันเพิ่มขึ้น ต่างจากหุ้นธรรมดาที่ไม่โดดเด่นขาย Volume ในการซื้อขาย ราคาหุ้นก็ไม่ขยับไปไหน หัวใจหลักคือการลงทุนให้หุ้นที่เติบโต ราคาพร้อมที่จะวิ่งไปข้างหน้า เพื่อให้ราคาเป็นตัวพิสูจน์เรื่องของการเติบโตของธุรกิจ 

สภาพคล่องก็คือ Supply/Demand(S) โดยผมพิจารณาหุ้นที่มี Free Float ไม่สูงเกินไป(โดยเฉพาะตัวที่ยังไม่มีการเพิ่มทุน หรือแตกพาร์ยิ่งดี) โดยให้เงื่อนไขของ %Free Float ไม่เกิน 45% เพื่อกรองหุ้นที่มีจำนวนหุ้นซื้อขายในตลาดที่มากออก เพื่อให้ได้หุ้นที่มีจำนวนหุ้นน้อยและมีโอกาสเคลื่อนที่ของราคาแรงยิ่งขึ้น


เริ่มจากสองปัจจัยแรก เราจะสามารถกรองหุ้นที่เข้าเงื่อนไขจาก 500 กว่าตัวลงไปได้เยอะครับ จากนั้นก็พิจารณาปัจจัยต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องลงรายละเอียด รายตัวเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลของหุ้นก่อนนำมาเปรียบเทียบ

ผลิตภัณฑ์และการแข่งขันในตลาด
ปัจจัยนี้เราจะทำการพิจารณา New product(N) และ Leader(L) ซึ่งเป็นการพิจารณาระดับตัวกิจการ ที่ต้องอาศัยการเข้าใจในธุรกิจระดับหนึ่ง เพื่อมโนภาพและคาดการณ์การเติบโตของอนาคต หุ้นทุกตัวที่เราจะซื้อควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนใช้เวลาในการศึกษาโมเดลธุรกิจ เพื่อหา Key Successful ให้พบ

New product(N) เป็นการโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์และบริการที่บริษัทจดทะเบียนผลิตและจำหน่าย จำเป็นที่ต้องรู้ถึงเป้าหมายของกลุ่มลูกค้า ประเมินตลาดและการเติบโต รวมถึงเรื่องของการตั้งราคาสินค้าและการบริหารต้นทุน เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน การเลือกสินค้าที่เราคุ้นเคยและมีความเข้าใจในกิจการ จะช่วยในการประเมินเชิงคุณภาพได้ดีและแม่นยำยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าออกใหม่และได้รับความนิยมยิ่งดี หรืออาจจะเป็นสินค้าแบรนด์เดิมแต่มีการแตกไลน์สินค้าหรือเพิ่มฟีเจอร์ในสินค้า เพื่อขยายและจับกลุ่มลูกค้าเพื่อทำการตลาด ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ  ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการมากมายที่อยู่รอบตัวเราล้วนมีความเชื่อมโยงกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเป็นส่วนใหญ่


การเลือกผลิตภัณฑ์และบริการ ถ้าเราต้องการความแน่นอนในการเติบโตพยายามโฟกัสไปที่กลุ่ม mega-trend ของการบริโภค ที่อนาคตจะกลายเป็นตัวที่มีค่าและมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมของผู้บริโภค การอ่านเกมส์ตรงนี้ออกช่วยให้เราได้หุ้นที่มีคุณภาพในการเติบโตได้ดียิ่งขึ้นไปอีก

Leader(L) ความแข็งแกร่งในกลุ่มอุตสาหกรรม เน้นไปที่หุ้นที่อยู่อันดับต้นของอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อบ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขัน ยิ่งอยู่อันดับ Top 5 ยิ่งดีแต่ควรไม่เกิน Top 10 และมีลูกเล่นการตลาดมีผลิตภํณฑ์ที่แปลกใหม่เพื่อมาแย่งส่วนแบ่งการตลาด ยิ่งดี 

สภาวะตลาดและความเป็นที่ต้องการ
I Institutional sponsorship หมายถึงหุ้นที่กลุ่มสถาบันสนใจร่วมลงทุนระยะยาว แต่จากประสบการณ์ผม บางครั้งหุ้นดีๆหลายตัวก็เป็นที่สนใจของนักวิเคราะห์ของสถาบันในระยะหลังช้ากว่ากลุ่มนักลงทุน โดยเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องไม่มาก ดังนั้นตัวแปรนี้ผมไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ แต่ผมใช้ในการยืนยันความคิดว่าตัวเองได้ตัดสินใจถูก ยิ่งถ้าซื้อหุ้นตั้งแต่ยังไม่มีมวลชนสนใจ แต่ต่อมาอีก 2-3 ไตรมาสสถาบันเริ่มหรือกลุ่มนักลงทุนเริ่มพูดถึง สถาบันหรือรายใหญ่เริ่มสนใจร่วมลงทุน หรือ กูรูชมมีบทวิเคราะห์สำหรับหุ้นมาให้อ่าน แบบนั้นเป็นการยืนยันว่าเราคิดถูก

Market Direction ทิศทางตลาดโดยทั่วไป การซื้อหุ้นเติบโต ถ้าจะให้มั่นใจว่าได้ของดีมีประสิทธิ์ภาพควรซื้อ ไม่ควรซื้อในช่วงตลาดขาลงหรือตลาด Crash อย่าเห็นแก่ของถูกเพราะเราไม่มีทางรู้ว่าราคาหุ้นจะลงไปถึงไหน ตามสภาพตลาดที่ลดลง เราควรเริ่มสะสมหุ้นในช่วงที่ราคาตกไปจุดต่ำสุดแบบหยุดนิ่ง และเริ่มฟื้นตัว พร้อมกับสภาวะตลาดที่ฟื้นตัวตาม ตรงจุดนี้ผมใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาเป็นตัวหาจังหวะซื้อหุ้น โดยจะโฟกัสเฉพาะหุ้นที่ผ่านการกรองจาก 4 ปัจจัยเบื้องต้นแล้ว


เครื่องมือในการวิเคราะห์เทคนิคที่ผมใช้ก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนแต่เน้นไปที่การเข้าซื้อให้ถูกแนวโน้มตลาด ถูกแนวโน้มของราคา(Trend Following)โดยใช้เทคนิคของ MEMA (Multi Exponential Moving Average) 

โดยใช้ EMA120 (แทนไตรมาส), EMA30(แทนเดือน), EMA7(แทนสัปดาห์) หลักการคือ ถ้าหุ้นกำลังเติบโต ราคาจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไปตามแนวโน้มขาบวกในระยะยาว โดยซื้อหุ้นเมื่อ EMA30 > EMA120 และขายออกเมื่อมีการปรับตัวลงแบบหมดแนวโน้ม EMA120 < EMA30 นั้นคือราคาลดลงต่อเนื่องเกือบไตรมาสบ่งบอกความผิดปกติของหุ้นเติบโต โดยเมื่อมีสัญญาณขาย เราควรกลับไปพิจารณาเงื่อนไขเชิงปัจจัยพื้นฐานประกอบ เพื่อหาความผิดปกติก่อนตัดสินใจขาย

แน่นอนว่าถ้าต้องการซื้อสะสมแบบหลายครั้ง ก็จะใช้แนวคิดการซื้อเมื่อแนวโน้มย่อยเป็นบวกโดยสามารถซื้อสะสมได้เมื่อ EMA30 > EMA120 และ EMA7> EMA30 โดยซื้อสะสมต่อเนื่องตราบใดที่ราคาหุ้นยังโตได้ต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือยิ่งเราเข้าช้าจากจุดยก EMA30 > EMA120 เท่าใด โอกาสที่การอิ่มตัวในการเติบโตของราคาก็จะมีมากเท่านั้น ดังนั้นมีความเสี่ยงในการปรับลงของราคาเพิ่มมากขึ้นตามเช่นกัน 



เงื่อนไขการวิเคราะห์ทางเทคนิคของผมนี้ ดูไม่ซับซ้อนเพราะความซับซ้อนอยู่ทีการเลือกหุ้นให้ตรง เลือกหุ้นเติบโตให้ได้ เมื่อมันเติบโตด้วยปัจจัยพื้นฐาน ราคาจะเป็นตัวสะท้อนและเพิ่มไปเอง หุ้นที่ผ่านการกรองด้วยปัจจัยอื่นๆมาแล้วว่า ยืนยันการเติบโต มีแนวโน้มเป็นบวก ร่วมกับช่วงตลาดหุ้นมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวก กราฟเทคนิคอลช่วยในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของราคาเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อการคาดเดาอนาคตแต่อย่างใด 


อ้างอิงจาก