ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Lie to Me ว่าด้วยการโกหก

ถ้ามีเวลาว่างจากการทำงาน เมื่อไม่ได้อ่านหนังสือ หรือมีกิจกรรมอื่นๆ ก็มักจะหาหนังอะไรสนุกๆ วันที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ดูซีรีย์ฝรั่งเรื่อง Lie to Me จบไปทั่งสามภาค กว่าจะจบผมจะดูจบก็ใช้เวลาเป็นเดือนเหมือนกัน เรื่องนี้ค่อนข้างประทับใจเพราะตอนแรกคิดว่าจะไม่สนุก ดูไปดูมามันส์แหะ โดยเฉพาะบุคลิกลักษณะ ท่าทางกวนตีน บวกกับสำเนียงอเมริกันปนอังกฤษของพระเอก Dr. Cal Lightman ที่ชอบกระตุ้นให้คนที่เขาต้องการประเมิน แสดงอารมณ์ร่วมแท้จริงออกมา ทั้งโกรธ โมโห เครียด

หนังเรื่อง Lie to Me ที่ผมพูดถึงเป็นซีรีย์ฝรั่ง(ไม่ใช่หนังรักเกาหลีนะ) ซึ่งเกี่ยวกับ การจับโกหก ในการสืบสวนสอบสวนคนร้าย โดยมี Dr. Cal Lightman เป็นผู้เชื่ยวชาญด้านการจับโกหก แบบเป็นวิทยาศาสตร์ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์หน้าตา ท่าทาง แบบทีเรียกว่า " microexpressions" เพื่อวิเคราะห์ไปถึงจิตใจ และความคิดของคนคนนั้น ประมาณว่าแค่ดูการตอบสนองจากหน้าและท่าทาง ที่มีต่อคำถามก็รู้แล้วโดยที่ไม่ต้องพูดออกมา




โดย  Dr. Cal Lightman นั้นไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่เขามีเพื้่อนร่วมงานและทีมงานที่สนับสนุนการวิเคราะห์ ทั้งจิตแพทย์ นักวิเคราะห์เสียง และนักวิเคราะห์ท่าทาง  โดยเฉพาะคดียากๆที่ตำรวจ CIA FBI หรือแม้แต่ภาคธุรกิจ ที่ยังต้องมาขอคำปรึกษา (ชอบตอนที่เศรษฐีคนหนึ่งต้องการให้ Lightman Group พิสูจน์ว่าแฟนที่จะแต่งงานด้วย รักเขาจริงหรือเปล่า)  Dr. Cal Lightman ก็สามารถขุดคุ้ยและวิเคราะห์ ปมที่ปกปิดขึ้นมาได้ ผ่านทางการสัมภาษณ์ การดูจากภาพถ่าย หรือกล้องวิดีโอ  โดยนำการวิเคราะห์นั้นมาไขคดีความ ต่างๆได้อย่างมากมายจนเป็นที่ยอมรับ ส่วนตัวผมชอบสุดก็ตอนที่ Dr. Cal Lightman หาลำไพ่พิเศษด้วยการเล่น Poker เรียกว่าหลายคาสิโนในเวกัส ต่างห้ามไม่ให้เข้าไปเล่นเพราะแก โกยเงินจำนวนบ้านกลับบ้านไปอย่างง่ายดาย



ดูเรื่องนี้จบ ตอนแรกผมนึกว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่พอ Google ค้นดูพบว่าหลายอย่างนั้นอ้างอิงจากหลักวิทยาศาสตรจริงๆ ที่มีงานวิจัยยอมรับ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ผลการทดสอบมาเป็นหลักฐานในศาลได้ แต่การจับโกหก หรือจับพิรุจน์ทั้งจำเลยและพยานก็ช่วยนำไปสู่การสืบสวนที่ ถูกทิศถูกทางได้เป็นอย่างดี 


ดังนั้นหลายหน่วยงาน จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาเทคนิคนี้กันอย่างกว้างขวาง และกูรูคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ ก็คือ Dr. Paul Ekman จบปริญญาเอกด้าน clinical psychology และได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาท่าทาง การอ่านการแสดงออกทางสีหน้า จนเป็นที่สนใจและนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เรียกว่าน่าจะเป็น    Dr. Cal Lightman  ในโลกความเป็นจริงก็เป็นได้


 Dr. Paul Ekman ปรมาจารย์ด้านการวิเคราะห์ อารมณ์จากสีหน้าท่าทาง 

การโกหก ล้วนเกิดจากอารมณ์ และมีเป้าหมายเหมือนๆกันคือ เพื่อสร้างผลประโยชน์ และข้อได้เปรียบให้กับตนเอง ในโลกการลงทุน เราก็จะพบกับการโกหก หรือการนำเสนอข้อเท็จจริงที่บิดเบือนได้ผ่านทางสื่อ ทั้งในรูปแบบการหาผลประโยชน์ต่างๆ โดยตรงและทางอ้อม ซึ่งใช้หลักการโกหกที่แนบเนียน คือการโกหกบนพื้นฐานความจริง เรียกว่าพูดความจริงครึ่งหนึ่งและพูดโกหก ปนเข้าไปอีกครึ่งหนึ่ง ทำแบบนี้ยากที่จะจับโกหก โดยเฉพาะการที่มองไม่เห็นสีหน้าและท่าทาง ยกตัวอย่างเช่น ราคาหุ้น AAA ตกลงรุนแรงต่อเนื่อง 30% มีทีท่าจะไปต่อไม่หยุด แต่ถ้ามีคนต้องการนำเสนอข้อมูลให้นักลงทุนเชื่อว่าหุ้นนี้ไม่มีปัญหาเขาก็จะใช้การพูดแบบเนียนประมาณว่า



"หุ้น AAA ผลประกอบการไตรมาสนี้ลดลง แต่ยังไม่น่ากังวลเพราะอีกไตรมาสที่เหลือเราเชื่อว่าจะดี ความต้องการใช้พลังงาน ปัจจุบันยังสูง บวกกับบริษัทมีนโยบายขยายกิจการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  สัญญาณกราฟเทคนิคคอลระยะสั้น เกิด divergence ค่า RSI ต่ำกว่า 30 ส่วน MACD ยกตัวตัดกัน ประกอบกับผู้บริหารเข้าเก็บหุ้นต่อเนื่อง " ถ้าลองแยกประโยคที่ดูน่าเชื่อถือออกมา จะพบว่า

- "หุ้น AAA ผลประกอบการไตรมาสนี้ลดลง" >> จริง เห็นกันชัดๆ

- "แต่ยังไม่น่ากังวลเพราะอีกไตรมาสที่เหลือเราเชื่อว่าจะดี" >> เท็จ เพราะเอาแน่นอนไม่ได้ รู้ได้ยังไงว่ามันจะดี

- "ความต้องการใช้พลังงาน ปัจจุบันยังสูง" >> จริง โลกเรายังไงก็ยังต้องการพลังงาน แต่พลังงานประเภทไหนอีกเรื่องหนึ่ง หรือความต้องการสูงในช่วงไหน เวลาไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง


-  "บริษัทมีนโยบายขยายกิจการ" >> จริง แต่ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะนโยบาย เปลี่ยนแปลงได้เสมอและยังไม่เกิด ไม่ปฏิบัติ

- "สัญญาณกราฟเทคนิคคอลระยะสั้น เกิด divergence  MACD ยกตัว" >> จริง ก็กราฟ timeframe สั้น หุ้นเวลามันลงมันก็เด้งสลับอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าภาพใหญ่มันจะหยุดลง หรือกลับตัวขึ้น มาถึงตรงนี้นักลงทุนทั่วไป ไม่รู้เทคนิคอล ไม่รู้ศัพท์ภาษาอังกฤษแบบนี้เริ่ม รู้สึกว่ามันยาก มันน่าเชื่อถือแล้ว

- " ค่า RSI ต่ำกว่า 30 " >> จริง แต่ไม่ได้แปลว่าราคามันจะไม่ลงต่อ

- "ผู้บริหารเข้าเก็บหุ้นต่อเนื่อง" >> จริง แต่เก็บวันละ 1000, 2000 หุ้น ไม่ได้มีนัยยะอะไร

จะพบว่าประโยคข้างตน เวลาที่สื่อออกมาประมาณว่าหุ้นไม่มีปัญหา ถ้าเรามีอคติเลือกที่จะเชื่อว่าหุ้นนี้จะต้องขึ้น เป็นรากฐานแล้ว หรือเรามีหุ้นนี้อยู่ ติดดอยอยู่ สุดท้ายแล้วเราก็มักอยากจะเชื่อ จะคล้อยตาม และต้องการจะซื้อเพิ่ม อยากเก็บเพิ่ม 


ประโยคเหล่านี้แม้จะไม่ได้สะท้อนความจริงโดยสมบูรณ์ ไม่บอกแสดงได้เลยว่าหุ้นนั้นจะขึ้น หรือหยุดลง แต่ข้อความประเภทนี้ก็ไม่ได้พูดเท็จหรือโกหกทั้งหมด มันทำหน้าที่เพียงการสื่อสารเชิงกลยุทธ ไปสู่ mass สร้างผลทางจิตวิทยาตลาด เพื่อให้เดินเกมส์ไปตามรูปแบบที่อยากให้เป็น ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกิดประโยชน์ต่อผู้ืที่ใช้ มากกว่าคนที่รับได้เสพข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อคนส่วนใหญ่จะเลือกเชื่อเพราะข้อความเหล่านี้มันก็มาเติมเต็ม หรือสนับสนุนอคติ สนับสนุนจิตใจและอารมณ์ของเรา ในช่วงเวลานั้น


เพื่อให้เราอยู่รอดในตลาดหุ้น แบบปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่ ไปเรียนรู้การจับโกหก หรือนั่งกังวลในทุกสิ่ง แต่เราควรจะเรียนรู้ที่จะคิดอย่างมีสติก่อนเชื่อ ควรตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับก่อนเสมอ ที่สำคัญอย่าเสพข้อมูลจากแหล่งเดียงหรือก๊กเดียวกัน ควรเสพข้อมูลหลายแหล่ง เพื่อเป็นการตรวจทานกันและกัน 



เกร็ดความรู้ในหนังเรื่อง Lie to Me ที่เราสามารถนำไปใช้ ได้ผ่านการดูสื่อที่เห็นภาพ การดูการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร การดูนักวิเคราะห์ ดูกูรู ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ หรือพูดออกรายการทีวี เราจะพบว่าท่าทางหรือสีหน้า ก็บ่งบอกอะไรได้ โดยเฉพาะ บ่งบอกความเชื่อมั่น ความหนักแน่นในคำพูด ในข้อมูลที่สื่อออกไป หรือจับสังเกตสีหน้าและน้ำเสียงในการตอบคำถาม การเลือกใ้ช้คำ การเบี่ยงเบนประเด็น 


แต่ก็ไม่ใช่ไปตั้งธงไว้ก่อน ว่าเขาจะโกหก หรือเขาจะเอาเปรียบเราแบบนั้น ก็ทำให้มีอคติไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นกลาง ที่สำคัญการจะจับอารมณ์ได้นั้น ต้องศึกษาและฝึกฝน ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ ไม่ใช่ดูผ่านจอ 2 นาทีแล้วรู้ได้


ชีวิตจริงการระวังตัวหรือพยายามจับโกหก แบบเค้นหาความจริงจากทุกสิ่งตลอดเวลาก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีมากนัก ในซีรีย์ Lie to Me ชีวิตของ Dr. Cal Lightman คนที่จับโกหกเก่งก็ไม่ได้มีความสุขอะไร แถมทำให้คนรอบข้าง ครอบครัว พลอยเครียดไปด้วย เพราะบางครั้งการโกหกที่ไม่ร้ายแรง การไม่พูดความจริงทั้งหมด ก็อาจจะทำให้โลกนี้สวยงามขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนขึ้น แต่แน่นอนว่า การโกหก เพื่อเอาเปรียบผู้อื่น ที่สร้างความเสียหายให้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ ไม่ควรยอมรับ 


สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด แม้เราจะจับโกหกไม่เก่ง คือ การเลือกที่จะเชื่อ อย่างมีสติ ตามหลักพุทธศาสนา กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 (อย่าเชื่อ 10 ประการ) อย่าเชื่อหรือไว้ใจ เพียงเพราะภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือ เพียงเพราะเป็นคนเด่นคนดัง เพียงเพราะมีอำนาจ มีเงินทองมากมาย ภาพลักษณ์ภาพนอกมักปกปิด ความคิด ความอ่าน จิตใจได้เสมอ 


ดังนั้นเมื่อรับข้อมูลเข้ามา อย่าปล่อยให้มันเกิดเป็นอารมณ์ ต้องใช้สติ กลั่นกรอง พิจารณาก่อนเสมอ ก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อไป ส่วนเรื่องการจับโกหก จากท่าทาง จากเสียงและการแสดงออกต่างๆ ถ้าใครสนใจลองเข้าไปศึกษางานของ Dr. Paul Ekman ดูได้ที่ลิ้งค์ด้่านล่างหรือซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมได้ ของแบบนี้รู้ไว้ก็มีประโยชน์เช่นกันครับ 



http://www.paulekman.com/