ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

tfex: เทรดเกินตัว ปวดหัวไปอีกนาน (Don't over trade)

วันนี้เป็นวันแรกของไตรมาส 4 ต้นเดือนตุลาคม อีกไม่กี่เดือนปี 2012 ปีที่เคยมีความกังวลว่าโลกจะแตกอีกแค่ 3 เดือนปีนี้ก็กำลังจะผ่านพ้นไป วันนี้ยังเป็นวันแรกที่มีการใช้ราคา initial margin ใหม่ของสินค้าในตลาด tfex โดยราคา IM ปรับลดลงมาจากเดิมมากพอสมควรในหลายรายการ เรียกว่าเปิดโอกาสให้รายย่อยเบี้ยน้อยหอยน้อยได้เข้ามาเทรดในสนามนี้มากขึ้น 


tfex หรืออนุพันธ์ในประเทศไทยเริ่มต้นเปิดมาตั้งแต่ปี 2547 เมื่อสี่ห้าปีก่อน จำนวนผู้เล่นรายย่อยก็ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมากลายเป็นว่านักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเข้าไปเทรดเก็งกำไรในตลาด tfex กันมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นมือใหม่ เพิ่งหัดเทรดหุ้น ก็กล้าเสี่ยงกล้าเข้าไปเล่นในสนามตลาดนี้กันแล้ว โดยเหตุผลหลักๆก็คือ อยากรวย 

เพราะ tfex นี้มีกำลังทด(Leverage)สูง ใช้เงินไม่มากก็สามารถเทรดสัญญาที่มีมูลค่ามากได้ ถ้าถูกทางกำไรก็ได้มาก และแน่นอนว่าผิดทางก็ขาดทุนบักโกรกหมดตัวได้เช่นกัน แต่ด้วยความหอมหวานของเม็ดเงิน ที่รายย่อยเห็นโอกาสในการทำเงินหลายหมื่น หลายแสนในเวลาสั้นๆ มันยิ่งดึงดูดนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเทรดในตลาดนี้มากขึ้นไปอีก เรียกว่ากล้าได้กล้าเสียง จนหลายคนเข้าใจว่ามันคือบ่อนการพนันที่เน้นมาเสี่ยงโชคกันแล้ว 

และถ้าพิจารณาดีๆ จะพบว่าคนส่วนใหญ่ขาดทุนมากกว่ากำไร แน่นอนว่าวันหนึ่งอาจจะกำไร วันต่อถ้าผิดทางก็ขาดทุนมาก ทำให้ผลรวมทั้งเดือนนั้นขาดทุนกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยความสนุกได้เสียเยอะและเร็วทำให้ รายย่อยนิยมขนเงินเข้ามาเทรดมาถม ในตลาดนี้เป็นอันมาก แม้จะทำงานประจำ ไม่มีเวลาตามราคาแต่ก็ยังกล้าที่จะเสี่ยงเล่นในเกมส์สั้นๆรายวัน โดยปราศจากความเข้าใจ ในความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้น 

ตลาดอนุพันธ์สิ่งที่ยากไม่ใช่การทำกำไร แต่เป็นการรักษากำไรและการสร้างกำไรให้ได้ต่อเนื่อง ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน(Money management) เป็นสิ่งสำคัญมากในการเทรด เพราะถ้าวางแผนวางกลยุทธการเงิน ไม่ดี โอกาสที่ผิดพลาดและสูญเงินจำนวนมากก็จะมีสูง tfex ไม่เหมือนตลาดหุ้น เพราะมีความผันผวนและมีการเคลื่อนตัวที่เร็วตามสไตล์ตลาดล่วงหน้า บวกกับสินค้ามีอายุสัญญาจำกัด แนวคิดการติดดอยไม่ขายไม่ขาดทุน นี่ทำเอาหลายคนหมดตัว โดย บังคับปิด เสียเงินเสียทองไปมากมายนักต่อนักแล้ว 


อัตรา IM ใหม่ล่าสุด

ดังนั้นแม้ว่าค่า IM จะต่ำ เพื่อทำให้ดึงดูดนักเก็งกำไรรายย่อยให้เข้ามาเล่นตอนดัชนีตลาด สูงๆ 1200-1300  แต่ความเสี่ยงจากการผิดทาง การคาดการณ์แนวโน้มล่วงหน้าผิดพลาดก็ยังคงอยู่และเกิดขึ้นได้ การเรียนรู้แค่การวิเคราะห์เทคนิคอลเพื่อหาสัญญาณซื้อขายอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องรู้จักการวางแผนบริหารจัดการเงินทุน ด้วย 

สิ่งสำคัญคืออย่าโลภ ไม่ over trade หรือใช้เงินที่มีเข้า bet แบบไร้สติด้วยความโลภ อยากได้ผลตอบแทนมากๆ ถ้าประมาทและโลภยังไงก็หมดตัว การรักษาทุนเป็นเรื่องสำคัญ ผมมีเทคนิควิธีคิดการคำนวณ Position size ต่อหนึ่งสัญญาที่ผมใช้มาแนะนำกัน

สมการ

Position size = IM + (MaxDD x Multiplier x N) 


โดย

* Position size คือเงินทุนที่ต้องมีสำรอง สำหรับ 1 สัญญา
* IM – Initial Margin
* MaxDD – Maximum Drawdown ของระบบ
* Multiplier – ค่าตัวคูณต่อ 1 สัญญา หรือ มูลค่าต่อหนึ่งจุด (pip value)
* N – จำนวนเท่าต่อ MaxDD

ตัวอย่าง
การคำนวณกับสัญญา Set50z12 โดย
Maximum Drawdown = 30 จุด
N = 2 >> เพื่อส่วนความปลอดภัย 2 เท่า
Multiplier = 1000
IM Set50 = 38000 

Position size = 38000+(30*2*1000) = 98 000 บาท ต่อสัญญา

จากตัวอย่างจะเห็นว่าการเทรด s50z12 1 สัญญาควรมีเงินสำรอง 98000 บาท ถ้าคุณมีเงินทุน 150000 ก็เทรดได้มากสุด 1 สัญญาเท่านั้น แม้ว่า IM ถูกลงขั้นต่ำเพียง 38000 บาท(ไม่ใช่ยิ่งถูกยิ่งเปิดมากๆสัญญาเปิดไป 2-3 สัญญา) เพราะถ้าเราไม่เผื่อเงินทุนสำรอง โอกาสที่ผิดทางหรือตลาดผันผวน แนวโน้มไม่ชัด เกิด whipsaw แกว่งตัวจนสัญญาเทคนิคอลเพี้ยน หรือเกิดตลาด panic จากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมือง หรือกรณีที่คาดไม่ถึง เราก็จะได้มีเวลา ในการแก้เกมส์ ไม่ถูก บังคับปิดสัญญา ที่สำคัญ ลดความเครียดในการเทรดกรณีที่เกิด การขาดสภาพคล่อง เป็นต้นครับ