ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

techno-fundamental


 Techno fundamental เป็นแนวทางการลงทุน ที่ใช้การผสมผสานข้อเด่นของการวิเคราะห์หุ้นทั้งสองแบบ คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค(Technical analysis) และการวิเคราะห์เชิงพื้นฐานกิจการ(Fundamental Analysis) เข้าด้วยกัน โดยแนวทางการลงทุนลักษณะนี้ สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งการลงทุนทั้งแบบระยะกลางและระยะยาว




รวมถึงสามารถใช้ในกับการลงทุนในรูปแบบการลงทุนเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาที่เติบโตและการลงทุนในหุ้นปันผล ผมเองใช้แนวทางนี้ในการลงทุนมาแล้วหลายปี เริ่มต้นจากการได้มีโอกาสไปอ่านหนังสือสองเล่มของ Philip Gotthelf ชื่อว่า Techno fundamental trading และอีกเล่ม ของ Nicholas Darvas ที่ชื่อว่า How I Made 2,000,000 in The Stock Market เซียนหุ้นบันลือโลก ที่เป็นต้นแบบการลงทุนแนวนี้ให้กับ นักลงทุนอื่นๆมากมาย เซียนหุ้นรุ่นหลัง หรือแม้แต่ผู้จัดการกองทุนหลายคน เช่น William O'neil ,Ed Seykota เป็นต้น ก็นำแนวคิดและแนวทางการลงทุนแบบ Techno fundamental นี้มาใช้จนประสบความสำเร็จมากมาย

อะไรดีกว่ากัน
แทนที่จะมานั่งแบบแยก เถี่ยงกันว่า อะไรดีกว่ากัน Nicholas Darvas มองถึงความจุดเด่นและมองถึงความครบถ้วนในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเขาแบ่งข้อมูลเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือข้อมูลพื้นฐานของบริษัท เป็นข้อมูลที่อิงกับตัวกิจการ การเติบโต รวมถึงสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกเช่นสภาพเศรษฐกิจ ข้อมูลกลุ่มที่สองคือข้อมูลแบบไดนามิก เป็นข้อมูลราคาและปริมาณซื้อขาย ที่เกิดขึ้นในตลาด

โดย Nicholas Darvas ใช้ข้อมูลทั้งสองชุดมาผสมผสานกัน เพื่อหาโซลูชั่นการเข้าลงทุนที่ดีที่สุด โดยใช้การวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน เพื่อหาหุ้น เลือกหุ้น ที่เหมาะสมมีความมั่นคง มีแนวโน้มการขยายตัว เติบโตของกิจการ มีตำแหน่งการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดี รวมถึงอยู่ในวัฏจักรอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้น และใช้การวิเคราะห์เทคนิคอล เพื่อหาจังหวะการซื้อขาย เพื่อเข้าซื้อหุ้นลงทุน สะสมหุ้น หรือแม้แต่การบริหารต้นทุนในการสะสมหุ้น รวมไปถึงจังหวะในการขายทำกำไร เพื่อให้ได้ข้อได้เปรียบในการเข้าลงทุน



จุดเด่นของ 
Techno fundamental
ซื้อขายหุ้นแนวทางนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การหามูลค่าที่ซ่อนอยู่ในกิจการ ด้วยการวิเคราะห์งบการเงินอย่างละเอียด หรือการลงไปตรวจบัญชีสินทรัพย์ แต่เขาเน้นที่การวิเคราะห์ คุณภาพกิจการ แนวโน้มโอกาสทางธุรกิจ เป็นสำคัญ 


หาหุ้นดี
หัวใจสำคัญที่เน้นคือการเข้าใจในธุรกิจ วิเคราะห์คุณภาพของกิจการก่อนลงทุน ตัวอย่างเช่น Darvas ใช้การมองหาหุ้นขนาดกลางเล็ก ที่มีศักยภาพการขยายตัว พวกเป็น Leader Stock ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเป็น วัฏจักรขาขึ้น(Bull Cycle) มีศักยภาพโดดเด่น Out Performance ร่วมกับการเติบโตของกำไรและรายได้จากการดำเนินธุรกิจ ตรงนี้มีผลต่อความคาดหวัง( Expected )ของนักลงทุนกลุ่มต่างๆในตลาดต่อหุ้นตัวนั้น ตัวดึวดูดกระแสเงิน(Fund Flow) ให้ขับดันราคาหุ้นในอนาคต 

จับจังหวะการลงทุน ซื้อขายมีระบบ
Nicholas Darvas ได้พัฒนาระบบการลงทุนตามแนวคิดการลงทุนของเขา ที่เน้นการลงทุนตามแนวโน้มทิศทางราคา ที่สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ นั้นคือ Dravas Box System ที่มีการให้จังหวะการเข้าซื้อสะสม ตามแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น ในลักษณะการเบรคทะลุกรอบสังเกต ร่วมกับการสังเกตการเพิ่มขึ้นของปริมาณซื้อขาย เขาจะติดตามราคากรอบเวลา ระดับวัน หรือสัปดาห์ 

ส่วนการซื้อขายหุ้นนั้น ก็จะเน้นที่การใช้ข้อมูลราคาและปริมาณซื้อขาย มาเป็นตัวตัดใจ วางแผน Buy-Order หรือ Stop Order (จำกัดความเสี่ยงในการเข้าลงทุน) แต่ไม่นำข่าวหรือเหตุผลทางธุรกิจที่ออกมาเป็นตัวนำเหตุผลการตัดสินใจซื้อขาย(ไม่ซื้อไม่ขายตาม Event หรือข่าวเกี่ยวกับบริษัท ไม่นำเหตุผลทางบวกหรือลบเกี่ยวกับบริษัทมาเกี่ยวข้องกับการซื้อขาย) 

ไม่สับสนปนกันหรือ
เพราะทุกอย่างเขามองว่ามันจะถูกสะท้อนในราคา เมื่อสังเกตราคา สังเกตที่ทิศทางแนวโน้มก็จะมองเห็นได้เช่นกัน ทำให้ไม่สับสนปนกัน เมื่อมีสัญญาณขาย หรือ Stop Loss ก็ขาย ตามระบบ ตามกลยุทธ์การทำ Exit Strategies อาจจะเป็นการขายแบบขั้นบันได หรือขายแบบพิรามิด เขาไม่มาภวังค์กับข่าวดีที่เพิ่งออกไปก่อนหน้า ขายแล้วกลับมาทบทวนการวิเคราะห์พื้นฐานอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันหรือหาเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมราคาหุ้น ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น จากปัจจัยภายนอก เขาก็จะเข้าสะสมหุ้นอีกครั้ง หรือแม้จะมีข่าวร้าย บทวิเคราะห์ว่าหุ้นมีปัญหา แต่ถ้าระบบยังไม่มีสัญญาณขาย แนวโน้มใหญ่ยังบวก เขาก็จะถือหุ้นต่อไป

บริหารต้นทุนบริหารความเสี่ยง
ถ้าขายแล้วราคา กลับมาเคลื่อนที่ขึ้นต่อทำยังไง??? ก็ซื้อสะสมต่อสิครับ เป็นการบริหารต้นทุนราคา หลักการก็เหมือนกับการ Short Against Port ถ้าพื้นฐานกิจการไม่เปลี่ยน เขาก็ยัง Focus หุ้นตัวนั้นเหมือนเดิม หรือถ้ากรณีตลาด Cash ลงแรงๆ มีผลทำให้ราคาหุ้นตกลง แม้พื้นฐานผลประกอบการหุ้นของเขายังไม่เปลี่ยน  Darvas ก็จะขายหุ้นตามสัญญาณและเข้าซื้อตัวเดิม เมื่อตลาดเริ่มรีบาวนด์ และราคาหุ้นเริ่มสร้างแนวโน้มขาขึ้นต่อ 

แน่นอนว่าเหตุผลที่จะเลิกลงทุนในหุ้นตัวนั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยพื้นฐาน หรือเกิดการเติบโตจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เขาลงทุนในหุ้นระยะยาว 3 ปี 5 ปีได้ จนกว่าจะจบขาขึ้นของอุตสาหกรรม หรือเกิดปัญหาความเสี่ยงภายในกิจการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องถือหุ้นเปิด Position ไว้ตลอดเวลา(เขาซื้อขายหุ้นตัวเดิม เพื่อทำการบริหารต้นทุนราคา กรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มใหญ่จากขาขึ้นเป็นขาลง ลงทุนในหุ้นตัวนั้นตราบเท่าที่พื้นฐานกิจการยังไม่เปลี่ยน)

ซื้อหุ้นปันผล
กรณีเข้าซื้อหุ้นปันผล  Darvas เลือกหุ้นมีอัตราการปันผลสูง และใช้เครื่องมือเทคนิคอล ในการหาจังหวะซื้อสะสมหุ้นห่านทองคำ ที่จังหวะราคาอิ่มตัวขาลง ทำให้เขาได้ ส่วนลด(Discount) จากตลาดแน่นอนว่ามันทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน หรือทำกำไรซื้อสะสมเฉลี่ยตามจุด Correction ของแนวโน้ม

แตกต่างยังไงกับนักเก็งกำไร
เครื่องมือการวิเคราะห์เชิงเทคนิคอล นิยมใช้กันมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น หรือเก็งกำไรรายวันเสมอไป เพราะวิธีใช้เครื่องมือทางเทคนิคอล ของนักลงทุนสายนี้ แตกต่างจากนักเก็งกำไร (Trader) ระยะสั้นที่หาโอกาสจากความผันผวนของทิศทางราคา แต่คล้ายคลึงกับ นักเก็งกำไรระยะยาวระยะกลาง สาย Trend Following 

เพียงแต่ Techno fundamental จะให้ความสำคัญในการเลือกหุ้น การหา Growth Stock ร่วมด้วยเสมอ เพราะมองถึงเรื่องของคุณภาพของแนวโน้ม ที่เกิดได้กิจการต้องเติบโตและขยายตัวตาม รวมถึงการมองถึง ความเสี่ยงการขาดทุน (Upside Down ) ที่ตระหนักถึง ค่าความแข็งแกร่ง (Relative strength  ของแนวโน้มราคาหุ้น กล่าวคือ ถ้าเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี เหมือนกับ แนวโน้มหุ้นตัวนั้นได้สวมเกาะป้องกัน ความเสี่ยง หรือการลดค่าลงของราคา จากความเสี่ยงที่เป็นระบบ จากปัจจัยภายนอกเช่น กรณีการร่วงลงของดัชนีตลาด ปัญหาทางเศรษฐกิจมหาภาค วิกฤติการเงิน ต่างๆ ในขณะเดียวกันเมื่อเข้าใจ พฤติกรรมการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นที่ลงทุน เมื่อตลาด Panic หรือเกิดการเข้าสู่ทิศทางขาลงจากภาวะปัจจัยต่างๆ นั้นก็จะเป็นโอกาสให้ นักลงทุนที่ได้เข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก ในจังหวะที่ได้เปรียบอีกด้วย

ทำไมต้องสนใจตลาด
การไม่สนใจตลาด ไม่ดูราคาปัจจุบัน ไม่ใช้ทางแก้ไข ของการจัดการกับอารมณ์ ที่เกิดจากความผันผวนความไม่แน่นอนของราคาตลาด โดยเฉพาะการเข้ามามีอิทธิพลทางจิตวิทยาต่อการตัดสินใจซื้อขายหุ้น เพราะสาระสำคัญนั้นอยู่ที่กลยุทธ์ ว่าเราต้องการอะไร ถ้าต้องการผลตอบแทนจากเงินปันผล แน่นอนว่าราคาตลาด ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างไร ตราบใดที่บริษัทยังปันผลให้เราได้ต่อเนื่อง ในอัตราที่เป็นบวก

แต่ถ้าสนใจผลตอบแทน จากส่วนต่างราคา การติดตามสนใจราคา เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้ ส่วนการจะไม่อ่อนไหว หรือ จิตตกไปตามภาวะการผันผวนของราคาในตลาด เพื่อให้เราซื้อขายได้เป็นไปตามแผนนั้นจำเป็นต้องใช้ระบบ ระบบการลงทุนที่ทำให้นักลงทุนยึดมั่นในแผนในเกมส์ในเป้าหมาย เหมือนที่ Nicholas Darvas ใช้ Dravas Box System 

ส่วนการติดตามราคา การวิเคราะห์ราคาหุ้น เราสามารถเลือกได้ว่าจะมองกรอบการเคลื่อนที่ราคา ระดับไหน วัน สัปดาห์ เดือน ขึ้นกับแผนกลยุทธการลงทุน ยิ่งลงทุนระยะยาวมากๆ การใช้กรอบเวลา(Timeframe) ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเล็กมากนัก เพราะความผันผวนที่เกิด มีค่าน้อยเมื่อเทียบกับภาพรวมระยะยาว แต่แน่นอนว่าก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงแบบทันถ่วงทีไม่ช้าจนเกินไป 



สรุป
Techno fundamental เป็นแนวทางที่มีนักลงทุนระดับโลกหลายคน เลือกใช้จนประสบความสำเร็จ เช่น William O'neil ,Ed Seykota , Nicholas Darvas ,Paul Tudor Jones,Dan Zanger และ Salem Abraham เป็นต้น โดยมีรูปแบบการนำใช้ระบบลงทุนที่หลากหลาย  

ตลาดหุ้นมี Cycle การเคลื่อนตัว เช่นเดียวกับวัฏจักรราคาหุ้น ซึ่งมีรูปแบบ มีวงรอบที่ชัดเจน การเข้าใจจุดนี้ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการลงทุน ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ใช้โอกาสจากวัฏจักรของตลาด วัฏจักรของอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นตัวเร่ง ในการสร้างผลตอบแทน แทบทั้งนั้น และสามารถใช้ความเข้าใจจุดนี้ในการลดความเสี่ยงจากตลาดหมี(Bear Market) หรือวิกฤติการเงินโลกที่เกิด ได้ ตรงนี้มีการพิสูจน์ จากนักลงทุนและกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่มีผลงานดีต่อเนื่องระดับหลายสิบปีมาแล้ว 


วิกฤตการเงิน เกิดวงรอบทุก 8-10 ปี

ดังนั้นประสิทธิภาพการลงทุนระยะยาว มันไม่ได้เกิดจากดวงดี หรือเฮง แต่เกิดจากการเลือกหุ้นที่กิจการดี และลงทุนได้ถูกจังหวะสภาวะของตลาด ผมนำเสนอแนวคิดนี้เพราะอยากให้นักลงทุนบ้านเรา ลองศึกษาและนำแนวทางนี้ไปใช้ เพื่อเกิดประโยชน์ในการลงทุนต่อไปในอนาคตครับ