ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ลงทุนเก็งกำไรระยะยาว สไตล์ Cway

ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของนักลงทุนที่เริ่มมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีน้อยลงเรื่อยๆ ผมมีโอกาสได้คุยกับบางท่านทางเว็บบอร์ด พบว่าหลายคนอายุแค่ 17-18 ปี ก็เริ่มลงทุนแล้ว สำหรับผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าอิจฉา เพราะถ้าเกิดคนเหล่านี้สามารถลงทุนในรูปแบบที่ถูกทางและ อยู่รอดในตลาดเกิน 10 ปี โอกาสจะเป็นเศรษฐีก็มีไม่น้อย แต่ถ้าพลาดไปเป็นขาซิ่งแบบผิดๆ ติดในวังวงเก็งกำไรรายวันแล้วละก็คาดว่าไม่ถึง 1 ปีคงได้น้ำตาตกกลับออกไปจากตลาดหุ้นแน่นอน



คนอายุน้อยก็มีข้อจำกัดเรื่องวุฒิภาวะ การควบคุมอารมณืและข้อสำคัญถ้ายังไม่เคยทำงานหรือประกอบอาชีพมาก่อน อาจจะมองไม่เห็นคุณค่าของเงินมากพอ ทำให้เกิดการลงทุนแบบเสี่ยงๆ และพยายามใช้ความกล้าได้กล้าเสียมาวัดดวง จนสุดท้ายก็กลายเป็นการพนันไป ยิ่งลูกผู้ดีมีเงินที่หาเงินได้ง่ายจากทรัพย์ของพ่อแม่แล้วนั้น การลงทุนแบบเกินตัว ขาดการจัดการด้านเงินทุนที่ดี โอกาสหมดตัวก็สูง

ตลาดหุ้น แท้จริงก็คือสนามรบสำหรับนักเก็งกำไร ทุกบาทที่ท่านได้มา นั้นย่อมมาจากเงินของผู้อื่นที่เสียไป แต่การสู้รบในสนามแห่งนี้ไม่ได้เกิดจากการสู้กับผู้อื่น แต่มันมาจากการสู้รบกับตัวเอง สู้กับจิตใจของตนเอง โดยส่วนตัวผมสนับสนุนให้คนมาลงทุนตั้งแต่อายุไม่มาก ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ ยิ่งเงินน้อยยิ่งได้เปรียบ มาเรียนรู้จากการลงทุนจริง เจ็บจริงแล้วเก็บบทเรียนไปเป็นภูมิคุ้มกัน ผ่านไปนานปี ความเก๋าก็จะมากพอ ถึงท่านจะไม่มีฝีมือเก็งขั้นเทพ แต่รับรองว่า ท่านจะไม่โง่ทำอะไรผิดซ้ำ แยกแยะได้ว่าลงทุนแบบไหนจะขาดทุน แบบไหนจะไม่ขาดทุน

การลงทุนระยะยาว
การลงทุนแบบเก็งกำไร ระยะยาวเป็นอีกรูปแบบการลงทุนที่ผมคิดว่ามันเหมาะกับรูปแบบการออมเงินในตลาดหุ้น โดยมีคาบเวลาการลงทุนระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป ซึ่งใช้เวลาในการติดตามหุ้นไม่มากนัก จะเหมาะสมกับ นักลงทุนที่ทำงานประจำหรือมีไม่มีเวลาติดตามราคาหุ้นทุกวัน


หลักการคือนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นในขณะที่มีราคาต่ำ แล้วไปขายเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น คำถามคือเราจะรู้ได้ยังไงว่ามันจะปรับตัวสูงขึ้น??? คำตอบคือ เราต้องดูถึงปัจจัยที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวบอกโอกาสและความน่าจะเป็นในการเติบโตของผลกำไรในอนาคต

การวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ
การลงทุนระยะยาวจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ถึงโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของบริษัท ภายใต้แนวคิดว่า ผลประกอบการที่ดี นั้นจะสะท้อนออกมาในรูปแบบราคาหุ้น การมองหาโอกาสนั้นดูได้จาก 

1. การวิเคราะห์เศรษฐกิจ
การวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของตัวบริษัทในอนาคต โดยต้องวิเคราะห์หาปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกและปัจจัยที่เป็นลบ ต่อตัวบริษัท และทำการหาข้อมูล ศึกษาบทวิเคราะห์ เพื่อดูถึงการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจที่จะเกิด เช่น อัตราดอกเบี้ย ,นโยบายของรัฐบาล ,GDP , รายได้บุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, อัตราแลกเปลี่ยน และดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นต้น

ข้อมูลและการวิเคราะห์ตัวเลขเหล่านี้สามารถหาอ่านได้จาก บทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ หรือของนักเศรษฐศาสตร์ สำนักต่างๆที่ออกมา เราควรนำมาประมวลผล หาปัจจัยบวก ต่อหุ้นตัวที่เราสนใจ

2. การวิเคราะห์อุตสาหกรรม
เป็นการวิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรม เพื่อดูวัฏจักรของอุตสาหกรรมนั้นๆ ก่อนที่จะทำการลงทุน การที่เราสามารถลงทุนในหุ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงระยะเจริญเติบโต โอกาสที่จะได้กำไรย่อมมีมากและสูงไปด้วย 
นอกจากนี้ยังต้องประเมินปัจจัยที่เป็นบวกต่อกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ราคาวัตถุดิบ, การสนับสนุนจากภาครัฐ, มาตรการทางภาษี และเรื่องการแข่งขันภายในกลุ่มอุตสาหกรรม

3. การวิเคราะห์ตัวบริษัท 
เป็นการมุ่งวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัท เข้าไปศึกษางบการเงิน หรือพิจารณาที่ผลประกอบการเบื้องต้น เช่น กำไรสุทธิ , ยอดขาย และสภาพคล่อง โดยการพิจารณามุ่งเน้นไปเพื่อหาหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ 
- เลือกหุ้นที่กำไรสุทธิที่เติบโตดีเด่น เช่นกำไรโตเป็นสองเท่าของไตรมาสก่อน
- เลือกหุ้นที่กำไรสุทธิที่เติบโตต่อเนื่อง หลายไตรมาสติดต่อ
- เลือกหุ้นที่พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร เช่นพวกขาดทุนหลายปี แล้วกลับพลิกเป็นกำไรได้ หรือกลุ่มพวก Turn around
- เลือกหุ้นวัฏจักร  ในช่วงระยะขาขึ้น เช่นกลุ่ม commodity cyclical พวก เหล็ก ปิโตรเคมี ถ่ายหิน น้ำมัน เดินเรือ และ แร่ธาตุต่างๆ หุ้นกลุ่มพวกนี้ที่เริ่มฟื้นคืนชีพจากขาลงจะ มีการเติบโตที่ดีและต่อเนื่อง เพราะเป็นบริษัทที่แข่งแกร่ง ซึ่งผ่านจุดต่ำสุดมาได้ บวกกับคู่แข็งมีการล้มตายไปบางส่วน ทำให้ดีมานด์ในตัวสินค้าที่จำหน่ายมีมากขึ้น ผลประกอบการก็จะเติบโตขึ้นตาม

การวิเคราะห์ทิศทางราคาหุ้น
การลงทุนระยะยาว ก็ยังคงมีความเสี่ยงแต่ย่อมน้อยกว่าการลงทุนระยะสั้น ที่มีความผันผวนสูง การลงทุนระยะยาว เป้าหมายคือการลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตของราคาในอนาคต ดังนั้นจังหวะการเข้าซื้อ และขายหุ้น จึงเป็น หัวใจสำคัญของการลงทุนลักษณะนี้ 

การที่เลือกหุ้นที่มีแนวโน้มขาขึ้น ย่อมทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนที่สูง ย่อระยะเวลาในการได้รับผลตอบแทน และปิดช่องการขาดทุนเนื่องจากการปรับตัวลงขอราคา การวิเคราะห์ทางเทคนิค สามารถช่วยในการหาจังหวะลงทุนระยะยาวได้อย่างแม่นยำ ผมเองใช้ indicator และเครื่องมือทางเทคนิคเบื้องต้น ดังนี้เพื่อกำหนดจังหวะลงทุน

1. Time Frame
กรอบเวลาของกราฟราคา ที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคสำหรับการลงทุนระยะยาว ตัวผมเองใช้ระยะเดือน (Month) โดยมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์แบบกลยุทธการลงทุนระยะยาว 6 เดือนขึ้นไป การใช้ข้อมูลระดับเดือน จะช่วยลดการผันผวนจากการเก็งกำไรระยะสั้น และปัจจัยผลกระทบระยะสั้น เช่น ข่าว ต่อราคา ทำให้เราไม่สับสน และหวั่นไหวต่อการเคลื่อนไหวของราคา ตามตลาด

2. Exponential Moving Average (EMA) 
EMA เป็นเครื่องมือพื้นฐาน การคำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของราคาหุ้น โดยในระบบการลงทุนระยะยาว ท่านสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ แต่โดยทั่วไปค่าที่เป็นกลางได้แก่ EMA6 หรือคือการพิจารณาการเคลื่อนตัวของข้อมูลราคาระดับ 6 เดือน 

3. Keltner Channel 
Keltner Channel เป็นเครื่องมือประเภท Band Indicator ที่เราสามารถใช้ในการหา turning point หรือจุดกลับตัวของกราฟราคาได้ แน่นอนว่าการลงทุนระยะยาว หัวใจสำคัญคือการเข้าซื้อหุ้นในช่วงกราฟขาขึ้น (Uptrend) การมองหา turning point ได้เร็ว ก็จะเป็นการหาตำแหน่งเข้าซื้อได้เร็วด้วย เช่นกัน โดย truning Point สามารถหาได้จาก กลุ่มแท่งเทียนที่เบียดตัวแตะหรือทะลุออกนอกกรอบของ Keltner Channel กรณีขอบบนก็จะเป็น จุดกลับตัวของ ขาลง ส่วนขอบล่างจะเป็นจุดกลับตัวขาขึ้น
โดยจุด TP ทั่วไปความชันของทิศทางราคาจะเข้าใกล้ 0

นอกจากนี้ Keltner Channel  ยังใช้ในการระบุ แนวโน้มของราคาได้ด้วย โดยเส้นขอบบน และ เส้นขอบล่างจะ ครอบความกว้างของช่วงราคา กรณีขนาด Bandwidth กว้าง ก็จะบ่งบอกถึง ความรุนแรงและชัดเจนของแนวโน้ม ส่วนเส้นกลาง KC AVG เส้นนี้บ่งบอกแนวโน้มของราคา ว่าเป็นขาขึ้นหรือลง


กรณี sideway แบนด์จะบีบตัวแคบและเป็นแนวตรงนอนยาวไปตลอด


4. Raff Regression 
Raff Regression คือเครื่องมือในการดูแนวโน้ม ทิศทางของราคาหุ้น เนื่องจากการลงทุนระยะยาวตามกลยุทธของผม เราจะหมอบ(ไม่ทำอะไร) ในช่วงราคา sideway โดยจะรอให้ผ่าน non trend ไปก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ ซื้อ-ขายหุ้นต่อไป ดังนั้นการใช้ Raff Regression ยืนยันการออกข้างของราคาหุ้นได้ 




กลยุทธการลงทุน
1. การเลือกหุ้นด้วยการวิเคราะห์พื้นฐาน บวกกับการดูทิศทางลมและปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ ที่จะเอื้อต่อธุรกิจในอนาคต
2. การหาจังหวะการลงทุน จะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วยเครื่องมือทางเทคนิคที่กล่าวมาข้างต้นบนกราฟข้อมูลราคา ช่วง TF ระดับเดือน โดยมีขั้นตอนดังนี้


สัญญาณซื้อ
- ราคาเคลื่อนตัวจาก KC Bottom เข้าสู่ KC AVG มีทิศทางขาขึ้น Uptrend โดยดูจาก Raff Regression ลากจากจุด turning point ความชันเป็น + เท่านั้น
- EMA6 ตัดกับ KC AVG โดย EMA6 มากกว่า KC AVG


สัญญาณขาย
- ราคาเคลื่อนตัวจาก KC Top เข้าสู่ KC AVG มีทิศทางขาขึ้น Downtrend โดยดูจาก Raff Regression ความชันเป็น - เท่านั้น
- EMA6 ตัดกับ KC AVG โดย EMA6 น้อยกว่า KC AVG




*** กรณีราคา ออกข้างหรือ Sideway ให้จำแนกแนวโน้มโดย Raff Regression ความชันเป็น 0 ให้ถือหุ้นอยู่เฉยๆ ไม่ต้องซื้อตามสัญญาณ แม้ว่า EMA6 จะตัดกับ KC AVG ก็ตาม


*** กรณีต้องการซื้อสะสมแบบ DCA สามารถเริ่มซื้อสะสมได้จากจุด TP ในช่วงขาขึ้น จนถึงจุดตัดของ EMA6 ถึง KC AVG


ตัวอย่างจุด TP และสัญญาณซื้อ-ขาย

กรณีที่ Sideway ก็รอดูมันทำ จนกว่าจะเกิดเทรนด์ที่ชัดเจน เข้าเงื่อนไข การซื้อ ขาย ก็เดินต่อไป เราใช้ Raff Regression ในการวัดแนวโน้ม กรณีที่มือใหม่ไม่ถนัดลากเส้นแนวโน้มเอง


สรุป
1. หัวใจการลงทุนระยะยาวคือการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นทางธุรกิจ ที่เป็นมีโอกาสจะเติบโต โดยต้องทำการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งระดับ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และข้อมูลของบริษัท เพื่อจะได้เลือกหุ้นที่มีอนาคต สว่างสดใส รุ่งโรจน์ ชัชวาลได้ถูกต้อง


2. ความรู้การวิเคราะห์พื้นฐาน เป็นหัวใจในความสำเร็จ โดยต้องหาข้อมูลและอ่านรายงานของนักวิเคราะห์ เพื่อประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ การเลือกหุ้นที่ดี มีโอกาสเติบโตก็เท่ากับเข้าใกล้ความสำเร็จเกือบ 60% แล้ว ดังนั้นการใช้เวลาว่าง วันหยุดในการศึกษาหาข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็น อ่านบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ ดูเหตุผลการให้ราคาเป้าหมายในอนาคต ดูข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจที่นักวิเคราะห์สรุปไว้


3. ซื้อหุ้นดี แต่ไม่ถูกจังหวะ ก็อาจจะทำให้เราสูญเสียโอกาสได้ เครื่องมือทางเทคนิค สามารถช่วยให้เราทราบแนวโน้มราคาหุ้น ที่เริ่มเข้าสู่ขาขึ้น เพื่อกำหนดจังหวะการลงทุน เปรียบดังการขึ้นรถเมล์ ที่ถูกคัน และถูกเวลาขึ้นปุ๊บ รถก็ออกทันทีไม่ต้องนั่งรอให้เสียอารมณ์ บางครั้งถ้าจิตใจไม่แน่วแน่เราอาจจะทิ้งโอกาสไป หรือบางครั้งอาจจะซื้อหุ้นดีที่ปลายดอย ต้องทนเห็นราคาหุ้นไหลลง แบบนั้นก็ยากที่จะทำใจให้ถือยาวได้ ไม่ใช่บอกว่าพลังงานจะมาในอนาคต PTT ดี ก็แห่ไปซื้อตอน 340 - 350 แบบนี้ก็รอกันเหงือกบานกว่าจะได้เห็นผลกำไร หรือถ้าได้เห็นจริง Upside ก็อาจจะไม่มากซะใจเท่าที่หวังไว้


การเปิดใจยอมรับ การวิเคราะห์ทางเทคนิค ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เสียหาย ไม่มีใครบัญญัติว่า VI หรือนักลงทุนระยะยาวห้ามใช้กราฟ การเข้าใจสถิติจะทำให้เรามองอะไรเป็นวิทยาศาตร์ และเป็นปัจจุบันมากขึ้น ดีกว่าไปยึดในสิ่งที่เราจินตนาการแล้วนำมาโมเดลภาพในอนาคตอย่างเดียว


การใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะทำให้เราง่ายต่อการติดตามและ กำหนดการเข้าซื้อ ขายหุ้นในราคาที่เหมาะสมได้ด้วย ที่สำคัญเรื่องการวิเคราะห์เทคนิคที่ผมนำมาเสนอก็เป็นพื้นฐาน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แบบนับเวฟ หรือการจดจำ รูปแบบแท่งเทียนอะไร


4. ควรรู้จัก Mega trend ถ้าคิดจะลงทุนระยะยาวให้เข้าวิน ต้องรู้จักกับ Mega Trend ที่กำลังจะมา บทความเหล่านี้สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ พิมพ์หรือการจัดสัมนา ถึงเรื่องธุรกิจที่เกาะกระแส Mega Trend หลายบริษัทก็มีอยู่ในตลาดหุ้น เช่นเรื่องของ Health Care มีทั้งบริษัทประกัน, โรงพยาบาล หรือ เรื่องพลังงานทดแทน เป็นต้น


5. การลงทุนระยะยาว นั้นเหมาะกับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีเวลามาติดตามหุ้นรายวัน แค่ใช้เวลาว่างเสาร์ อาทิตย์ในการหาข้อมูลและดูราคาบ้างพอประมาณ ที่สำคัญวิธีนี้ทำให้ไม่ต้องไปกังวลกับความผันผวนของตลาดมากนัก กรณีตลาดมีแรงผันผวนมากเกิด Sideway เราก็รอเฉยๆหรือหมอบไว้ก่อน รอจนแนวโน้มชัด แล้วค่อยตัวสินใจซื้อ หรือ ขายต่อไป


วิธีนี้เป็นวิธีที่ผมใช้มาแล้ว หลายปี คิดว่าดีจึงนำมาถ่ายทอดและแนะนำกัน ศึกษาให้เข้าใจและลองนำไปผลิกแพง แล้วปรับปรุงใช้ หุ้นหลายตัวพื้นฐานเลิศ แต่สภาพคล่องน้อย นอนนิ่งออกข้างเป็นคานทางด่วน เราก็รอจนกว่าจะมีคนมาสนใจและมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จนเป็นขาขึ้นแล้วค่อยเริ่มสะสม แน่นอนว่า เคล็ดลับคือการหมั่นติดตามดูหุ้นที่เราสนใจ ติดตามการเคลื่อนไหวรายสัปดาห์ หรือ รายเดือนเพื่อให้เห็นแนวโน้มของราคา ว่ามันสอดคล้องกับแนวโน้มผลประกอบการที่เราคาดไว้หรือไม่ ถ้าสองแนวโน้มมาบรรจบกันก็โป๊ะเช๊ะ เตรียมเฮได้เลยครับ


ผลประกอบการที่คาดไว้และราคามาบรรจบกัน ก็ถึงเวลาเฮได้เลยครับ เข้าเก็บปี ปลายปี 2009 มีทิศทางชัดเจน ขายต้นปี 2011