ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เทคนิครับมือกับตลาดหุ้นขาลง

อาทิตย์ที่ผ่านมาดูจะเป็นอาทิตย์ที่เลวร้ายในชีวิตการลงทุนของใครหลายคน มีหลายท่าน email เข้ามาทักทายและขอคำปรึกษา ผมเองได้ให้คำปรึกษาที่เป็นกลางๆไป ด้วยความที่ไม่ยากฟันธงหรือชี้นำ ไอ้แบบที่จะให้บอกว่าซื้อเพิ่มถั่วเฉลี่ยเข้าไป ,ให้ติดดอยเพื่อรักษาต้นทุน หรือขายทิ้งล้างพอร์ต ผมคงไม่ทำผมเชื่อว่าเงินของท่าน ท่านควรมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจได้เอง ถ้าผ่านจุดนี้ไปไม่ได้ โอกาสจะประสบความสำเร็จก็ยาก แต่ถ้าเราผ่านมันไปได้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านจะได้รับประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่งในการลงทุน




หลังจากดัชนีลดลงมา 100 กว่าจุดในเวลาไม่ถึง สองสัปดาห์ผมเชื่อว่ามันคงทำให้ใครหลายคนตื่นตระหนกได้ไม่น้อย โดยเฉพาะท่านที่เพิ่งเริ่มลงทุนได้ในช่วงตลาดขาขึ้น ยังไม่เคยผ่านวิกฤตหรือเหตุการณ์ตลาดขาลงมาก่อน ด้วยความคิดที่คุ้นเคยว่าตลาดหุ้นทำเงินได้ง่าย ลงไม่เยอะ ลงไม่นานเดี่ยวก็ขึ้น ชุดความคิดนั้นอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยาม ที่โลกอยู่ในช่วงเฝ้าระวังกับการกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทั้งทางฝั่ง ยุโรปและอเมริกา หลายคนยังคิดมองโลกในแง่ดีกว่ามันไม่น่าจะมาถึงบ้านเรา หรือคิดต่อไปอีกว่า น่าจะเป็นโอกาสของเอซียแต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะปัจจุบันโลกมันแคบเงินลงทุนนั้นไหลไปถึงกันหมด เจ้าของเงินอย่างในยุโรปหรืออเมริกา ก็มีเงินในเอเซียไม่น้อย และหลายประเทศในเอเซียก็ลงทุนในประเทศอย่างอเมริกาและยุโรป ถ้าเกิดปัญหาผลกระทบก็มาถึงเราวันยันค่ำเพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง บทความนี้ผมขอเขียนแนวทางที่ตัวเองใช้ในการรับมือกับภาวะตลาดแบบนี้แชร์เพื่อนๆ เพื่อจะได้นำไปใช้ในโอกาสต่อไป โดยผมจะโฟกัสไปที่เหตุการณ์ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา


SET ครึ่งวันเช้าของวันที่ 26-09-2011

แยกให้ออกหุ้นลงเพราะอะไร
ปัยจัยที่ทำให้หุ้นลงในสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ใหญ่ได้แก่ปัจจัยภายพื้นฐานของบริษัท และปัจจัยจากอารมณ์ตลาด เราจำเป็นต้องแยกให้ออกก่อนที่จะดำเนินกลยุทธต่อไป หุ้นหลายตัวเช่น JAS,PTL,BCP, SMT,TVO, STA เป็นต้น ล้วนมีข่าวออกมาเกี่ยวกับราคาสินค้าและผลประกอบการ ส่งผลกดดันให้ราคาหุ้นนั้นลงมากกว่าหุ้นตัวอื่นๆในตลาด แบบนี้คือสิ่งที่เรียกว่า การลงเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานภายใน (แต่การลงในช่วงภาวะตลาดอารมณ์เสีย ย่อมเจอผลจากอารมณ์ตลาดกดทับให้ราคาทรุดลงไปด้วย)


อีกปัจจัยคือการตกลงของราคาเพราะอารมณ์ตลาดอันเกิดจากความกังวลในปัญหาหนี้ของยุโรป นั้นมีผลกระทบโดยรวมกับหุ้นส่วนใหญ่โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม SET100 เกิดจากแรงเทขายจากกองทุนต่างชาติและนักลงทุน ที่ต้องการลดพอร์ตเพื่อถือเงินสด ดังจะเห็นได้ในช่วงวันที่ 22,23,25 สิ่งนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับพื้นฐานบริษัท หุ้นหลายตัวผลประกอบการโต ดีเยี่ยมแต่ราคาหุ้นลดลงอย่างรุนแรง ตามดัชนี SET ที่สี่วันดัชนีลดลงต่อเนื่องถึง 100 กว่าจุดจาก 1020 มาถึง 904 จุด


การลดลงของราคาตามอารมณ์ตลาด ที่เราสังเกตเห็นย่อมทำให้เราเข้าใจและวางแผนตั้งรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้


อย่าด่วนรับมีด ของถูกอาจจะมีถูกว่า
คนส่วนใหญ่ที่ลงทุน มักใช้วิธีคิดแบบทั่วไป คือเรามักจะอยากได้ของที่ถูกกว่าเสมอ เพราะเราใช้วิธีคิดหรือการตีค่าราคาโดยอ้างอิงความสัมพันธ์กับราคาก่อนหน้า ยิ่งก่อนหน้าราคาแพง ราคาสูง แล้วราคาลดลงมาเยอะ นักลงทุนมักเร่งรีบเข้าซื้อหุ้น แต่บ๊ะ มันมีถูกกว่าอีก ในวันถัดมาทำให้ท่านติดดอย หรือไม่ก็ขาดทุนแบบไม่ต้องสงสัย ผมขอยกตัวอย่างหุ้นอย่าง PTTCH มีพื้นฐานดี ข่าวดีเรื่องการควบรวม ราคาวิ่งจาก 148 บาทมาถึง 120 บาท หลายคนมักไม่รีรอรีบเข้าไปซื้อ เพราะคิดว่าเป็นของถูก แต่หลังจากนั้นราคาก็ลงต่อไปถึง 94.5 เห็นไหมครับ ขาดทุนทันที ดังนั้นถ้าเราแยกได้แล้วว่าหุ้นตกลงเพราะ อารมณ์ตลาด สิ่งที่ต้องทำคือ รอ รอ และ รอ รอให้หุ้นสะเด็ดน้ำหยุดลงและมีแรงซื้อทฃมาไล่ซื้อกลับ ถ้าท่านอยากได้ค่อยตามไป อย่าไปคิดหาจของถูกที่สุดในตลาดหุ้น เพราะเราไม่สามารถซื้อราคาต่ำที่สุดได้ ยอมซื้อในราคาที่ไม่ต่ำสุด แต่เป็นจังหวะที่เรามั่นใจว่าหุ้นหยุดลงจึงจะเป็นกลยุทธที่ดีและปลอดภัยครับ


ตัวขาดทุนช่วยเราได้
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มลงทุนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจะรู้ เพราะตลาดสอนบทเรียนให้เห็นถึงความผันผวนเกินคาดเดา จากกำไรมาเท่าทุน จากเท่าทุนมาเป็นขาดทุน จนถึงกระทั้งขาดทุนมาก หลายคนทำอะไรไม่ถูกได้แต่คิดว่าหุ้นพื้นฐานดี ยังไงก็ไม่เป็นไร จนขาดทุนแล้วขาดทุนเล่า จาก 5% เป็น 10% บางคนลุกลามถึง 50% ก็มี นั้นเพราะว่าการตกลงของตลาดช่วงนี้มันไม่ได้เกิดแบบปกติ มันเกิดจากการ panic และความกังวลในวิกฤตการเงิน การตกลงแบบรุงแรงจึงเลี่ยงไม่ได้ สัญญาณของเงินไหลออก ที่สะท้อนผ่านการขายต่อเนื่องของฝรั่งตลอดสองสัปดาห์ รวมถึงการแข็งค่าของเงินดอลล่าห์สหรัฐ มันเป็นจุดบ่งบอกที่สำคัญ


บางคนอาจจะเลือกการถือหุ้นรอ แต่แน่นอนว่าไม่มีใครรับประกันได้ว่า เมื่อไหร่ดัชนีจะกลับมาที่ 1100 จุดอีกครั้ง หรือว่าสวรรค์อันสวยหรูที่เราอัดฉัดความหวังว่าจะไป 1200 จุดมันคงยังห่างไกล ไม่รู้ว่าจะอีกกี่ปี กี่เดือน ยิ่งถ้าระเบิดทางการเงินฝั่งยุโรป และสหรัฐเกิดขึ้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงท่านอาจจะต้องค้างอยู่บนดอยเป็นปี


ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายลุกลาม การตัดขาดทุนก็สามารถช่วยเราได้ โดยการสร้างจุดตัดขาดทุน ที่พอเหมาะกับจริตของเรา เช่น 8% 10% 20% เพราะการที่หุ้นลงมาลึกขนาดนี้โอกาสในการลงต่อยิ่งมีมาก บวกกับอารมณ์ของตลาดที่ท่านสามารถสัมผัสได้ ก็จะนำมาใช้ร่วมในการตัดสินใจ


แน่นอนว่าการเสียเงินเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถยอมรับ แต่การที่เราปล่อยให้พอร์ตติดลบไป 40-50% แล้วค่อยมาหาทางแก้มันจะยากกว่า การวางแผนล่วงหน้าทำให้เราประเมินความเสียหายและจำกัดความเสียหายได้ แล้วนำเงินสดที่เหลือรอจังหวะซื้อคืนหรือนำไปลงทุนในหุ้นตัวอื่น ในภาวะตลาดผ่านพ้นวิกฤตไปจะดีกว่า ดังนั้นเจ็บแต่จบ ก็ควรจะเลือกทำนะครับ


SAP พื้นฐานยังดีแต่ราคาไม่อำนวย
ถ้าหุ้นพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง แต่อารมณ์ตลาดมันฉุดให้ราคาลดลงแบบไม่มีเหตุผล การทำ SAP (Short Against Port) สามารถช่วยเราได้ หลักการเบื้องต้นคือ การตั้งจุด short ไว้ เช่น 5%,8% แล้วแต่ตามจริตท่าน เมื่อราคาหุ้นตกลงมาถึงจุด short ก็ทำการขาย รอจนกว่าหุ้นเริ่มหยุดลง หรือมีการกลับตัวทำการซื้อคืน ถ้าท่านที่ดูกราฟเป็นก็จะช่วยการกำหนดจุดได้ดีมากยิ่งขึ้น


ประโยชน์ของการ SAP นั้นคือการลดต้นทุนและมีการใช้ประโยชน์จากลดลงของราคาหุ้นอันเนื่องจากราคาตลาด เช่น KTB ถ้าทุนเรา 18 บาท เมื่อราคาลดลงมาถึง 17 บาท ถึงจุด Short ก็ทำการขาย ราคาวิ่งลงมาถึง 15.8 ทำการกลับตัวหยุดลง เราทำการซื้อคืน เก็บ KTB ที่ 16 บาท จะพบว่าวิธีนี้ลดการขาดทุน ดีกว่าการติดดอยเพราะเมื่อสภาวะตลาดขาลง เราไม่อาจจะประมาณจุดต่ำสุดได้ไม่รุ้ว่าจะลงไปเท่าไหร่ SAP ก็จะเป็นอีกวิธีในการลดความเสียหาย


แต่ปัญหาหนึ่งของการทำ SAP นั้นคือ การที่เราตั้งจุด short ต่ำเกินไปบางทีขายแล้ว ราคาลงไม่กี่ช่องก็เด้งกลับ ทำให้เราซื้อคืนสูงกว่าต่ำแหน่งที่ขาย ทำให้ขาดทุนไป ดังนั้นการ SAP ท่านจะต้องฝึกเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการทำ ควรประเมินแล้วว่าหุ้นเป็น down trend จริงๆไม่ใช้ sideway และที่สำคัญการซื้อคืนต้องมั่นใจว่าหุ้นหยุดลงหรือมีการเด้งขึ้นจากจุดต่ำสุดก่อนหน้าระดับหนึ่ง เช่น 3-5%


การ SAP ผมมีเทคนิคง่ายๆมาแนะนำคือการใช้เส้นค่าเฉลี่ย EMA แบบหลายเส้นมาช่วย โดยตัวอย่างผมใช้ EMA5 EMA8 EMA13 EMA21 EMA55 EMA89 EMA144 ซึ่งเราใช้ค่าเหล่านี้เป็นเหมือนหลักกม. ในการสังเกตการลงของราคา แล้วกำหนดจุด short และจุด cover เป็น %
-ตัวอย่าง
นิยามขาลง down trend ให้ได้แล้วกำหนดจุดขาย short ที่ 8% จากต้นทุน และซื้อคืนเมื่อราคากลับมายืนเหนือ EMA13 (เป็นแค่ตัวอย่างนะครับ ลองเอาไปประยุกต์ดูได้)



ขาลงจงอย่าละเลยสัญญาณขาย
ขาลงอย่างในช่วงสองสัปดาห์นี้ที่ทำให้ใครหลายต่อหลายคนต้องขาดทุน ต้องติดดอย ต้องล้างพอร์ต จนมีคนกล่าวขวัญว่ามันเป็น Black Monday จริงแล้ว ขาลงครั้งนี้ที่เงินไหลออกจากตลาดมากมาย มันอาจจะไม่ได้อยู่ในการคาดเดา แต่มันไม่ได้ยากเกินการสังเกต ผมเองรอดพ้นจากความเสียหายครั้งนี้ก็ด้วยการสังเกต เพียงใช้แค่การเชื่อมั่นในสัญญาณขายที่ปรากฏ อย่าไปเดาว่าเดี่ยวมันก็เด้ง ลงไม่นาน พื้นฐานยังดี เศรษฐกิจไปได้ เพราะทุกอย่างคือจิตปรุงแต่งที่ท่านสร้างขึ้นมา ทั้งสิ้นดังนั้นการยึดถือระบบและการมีวินัย คือหัวใจสำคัญของการลงทุนครับ


จากภาพ จะเห็นสัญญาณขายและการเปิด GAP จากการขาย แถมยืนยันด้วยแนวโน้มขาลง ทะลุแนวรับสำคัญ ทุกอย่างไม่ต้องคาดเดา ถ้าเรามีวินัยยึดมันในระบบ เราก็จะปลอดภัยได้ไม่ยากเลยครับ ที่สำคัญในแนวโน้มขาลง แรงขายมีมากกว่าแรงซื้อ ดังนั้นสัญญาณขาย จึงมีความแน่นอนมากกว่าสัญญาณซื้อในขาลง นักเก็งกำไรจึงไม่ควรละเลยสัญญาณขายที่ปรากฏตรงหน้า