ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เทคนิคบริหารพอร์ตหุ้นเก็งกำไร

การเป็นนักเก็งกำไร หาเงินจากการเทรดหุ้นหลายคนมักคิดว่ามันง่าย ไม่เหนื่อย ได้เงินเร็ว ใช้ชีวิตชิวๆ ไม่ต้องกดดัน ไม่ต้องมีเจ้านายมาจิกหัวใช้ มากดดันให้เราทำอะไรตามคำสั่ง เหมือนเป็นชีวิตในฝัน แต่จริงแล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรที่ง่ายดายเช่นนั้น ต้องผ่านการฝึกฝนและการพัฒนาตนเอง ผมเองแม้ปัจจุบันไม่ได้ทำอาชีพเป็นเทรดเดอร์ แต่ก็เคยมีประสบการณ์การใช้ชีวิตหาเลี้ยงชีพด้วยการเทรดหุ้นและอนุพันธ์อย่างเดียวมาก่อน 



ผมเคยใช้เวลา เกือบ 2 ปีในการเทรดหุ้นเก็งกำไรเป็นหลัก ตั้งแต่เช้าถึงดึก ทั้งตลากหุ้นไทย tfex ตกเย็นก็ต่อด้วยการเทรดทองคำ ตอนนั้นมีความคิดเบื้องต้นที่ว่า อยากพัฒนาระบบเทรดและอยากเพิ่มความสามารถในการเทรดหุ้นของตัวเอง ถ้าเราทำงานไปด้วยเล่นหุ้นไปด้วย เวลาในการอ่านหนังสือ ในการทุ่มเทเพื่อติดตามหาข้อมูลมันอาจจะไม่พอ และอาจจะช้า ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านชีวิตการทำงาน เลยทำให้ตัดสินใจลองทำดู สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ จากการใช้ชีวิตเลี้ยงชีพด้วยการเทรดหุ้น มันไม่ใช่แค่การดูกราฟ หรือนั่งวิเคราะห์ หุ้นแต่มันเป็นมิติเรื่องการบริหารจัดการ โจทย์ที่ว่าทำอย่างอย่างไรที่จะเทรดหุ้นให้มีเงินพอเลี้ยงชีพ หรือมาทดแทนเงินเดือนของตัวเองได้


ผมพบว่าการจะใช้ชีวิตเช่นนี้ ต้องมีเรื่องของวินัยในการบังคับตัวเองให้ ขยันและมีไฟที่จะเรียนรู้ ต้องวางแผนการเทรดหุ้นให้ละเอียดเพื่อให้ได้กำไรที่แน่นอนและต่อเนื่อง โจทย์คือเพื่ออยู่รอด เพื่อไม่ให้หมดตัว ซึ่งแตกต่างจากการเทรดหุ้นและทำงานประจำเพราะตอนนั้นชอบเสี่ยงเพื่ออยาก กำไรก้อนโต 10% 50% ใครว่าดีเอาหมดตามหมด ขาดทุนแสนสองแสนไม่ใช่เรื่องใหญ่กล้าเสี่ยง เสียแล้วเสียไปหาใหม่ได้ เดี่ยวไม่นานก็มีรายได้มาทดแทน หรือการติดดอยเรื่องเล็กรอได้ ความคิดแบบนั้นยอมรับว่าเป็นความคิดที่ผิดที่เกิดจากจิตของเราเอง และยังไปก่อให้เกิดทัศนคติดเชิงลบที่ขัดขวางการประสบความสำเร็จของตัวเองในอนาคต


อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เทรดเดอร์หรือนักเล่นหุ้นเก็งกำไรต้องมี คือเรื่องของกลยุทธการบริการพอร์ตการลงทุน(Portfolio management) ผมใช้เวลาเกือบสามเดือนศึกษาเรื่องนี้พร้อมกับ Money management จากตำรา ebook ของฝรั่งส่วนมากจะสอนสำหรับการเทรด Forex แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดี ผมขอสรุปเอาสาระสำคัญมาแบ่งปันสำหรับเพื่อนๆทุกคน


1. วางเป้าหมาย
บริหารพอร์ตให้ประสบความสำเร็จนั้นหมายถึงการที่เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราต้องการ ดังนั้นการที่จะไปให้ถึงต้องมีเป้าหมายระยะยาว ระยะกลางและระยะสั้นเพื่อเป็นหลักกิโลระหว่างการเดินทาง 


ตัวอย่างเช่นต้นปี เราควรวางแผนโดยประเมินว่าในปีนี้ สภาพเศรษฐกิจ สภาพตลาดหุ้นเช่นนี้ มีเป้าหมายกำไรกี่ % (เป้าหมายระยะกลาง) และทำการวางเป้าหมายผลกำไรรายเดือน เพื่อหากลยุทธการเทรดหุ้นให้ได้ตามเป้าหมาย โดยสมดุลทั้งการสร้างกำไรและการรักษากำไรที่ทำได้ก่อนหน้า แบบนั้นจะช่วยให้เราสามารถมีแนวทางและมีแบบแผนในการดำเนินการเพื่อไปให้ถึงจุดหมายในอนาคต

2. รักษาเงินต้น
เงินต้นทุน สำหรับการเทรดหุ้น เป็๋นหัวใจสำคัญ ถ้ารักษาไว้ได้นานเท่าไหร่โอกาสที่มันจะขยายตัวตามจังหวะ ตามความรู้และประสบการณ์จะมีสูง แต่ถ้าเสียมันไปเร็วโอกาสจะได้คืนจะยากยิ่งหนัก ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับ hedge fund หลายเล่ม ผู้จัดการทุนเก่งๆหลายกองพูดเหมือนกันคือ การทำ hedge fund ให้ประสบความสำเร็จ หัวใจคือต้องรักษาเงินทุน ไม่ให้เสียหาย เสี่ยงให้น้อยแต่ทำกำไรให้ได้มาก ดังนั้นเคล็ดลับการบริหารพอร์ตการลงทุนของผม ผมใช้ข้อนี้เป็นนโยบายสำคัญ ไม่เสี่ยง ไม่กลัวตกรถ ไม่โลภ ของเงินต้นไม่หาย เดี่ยวก็มีโอกาสทำกำไรตามรอบได้เสมอ




3. การกระจายความเสี่ยง
การกระจายความเสี่ยงในพอร์ตหุ้น มันไม่ใช่การลดความเสี่ยงความเสี่ยงที่เป็นระบบก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่มันคือการลดความเสียหายจาก ผลกระทบยามที่เราขาดทุน หลักการกระจายความเสี่ยง ขึ้นกับการบริหารจัดการเงิน(Money Management) ของเรา ว่าจะวาง Position size ไว้เท่าไหร่ และมีวงเงินที่จะ Cutloss ไว้แค่ไหนในการเทรดแต่ละครั้ง ทั้งสองควรจะสอดคล้องกันไม่มากไปน้อยไป


ส่วนการถือหุ้น ผมไม่แนะนำให้ถือหุ้นมาก แบบ 10 ตัว 20 ตัวในอัตราส่วนที่เท่ากันเพราะสุดท้ายแล้วกำไรและขาดทุนมันจะถั่วเฉลี่ยกันหมดจนกลายเป็นไม่ได้อะไรเลย การถือหุ้นให้ดี ตัวเน้นๆประมาณ 3-5 ตัว กระจายไปคนละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นระบบจากอุตสาหกรรม แต่ละตัวจะใส่เงินมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับความแม่นยำของระบบเทรด ถ้ามั่นใจมาก ค่า RRR สูง ก็สามารถเพิ่มน้ำหนักให้มากได้


การกระจายความเสี่ยงที่ดี จะเกิดผลก็ต่อเมื่อเราได้ประเมินความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าแล้ว พยายามนิยามความเสี่ยงให้ออกมาเป็นตัวเลข และจัดลำดับความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ต เพื่อหากลยุทธการ Rotation ในกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนหรือไม่สามารถทำกำไรได้ตามที่คาดหวังไว้ในหุ้นตัวนั้นๆ รวมถึงหาช่องทางในการทำกำไรในกรณีที่ตลาดเป็นขาลงเช่นการใช้อนุพันธ์(TFEX) เพื่อเอาไว้ลองรับก็จะเป็นสิ่งที่เสริมประสิทธิภาพในการทำกำไรให้มากยิ่งขึ้น แต่แน่นอนว่าภาระในการเรียนรู้ก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


4. โฟกัสในหุ้น
การบริหารพอร์ตลงทุนให้ดี ความเข้าใจในหุ้นแต่ละตัวที่เราเลือกใน watchlist ควรมีให้มาก ยิ่งเล่นตัวไหนบ่อยๆจนชำนาญรู้ทาง รู้นิสัย แบบนั้นทำเงินได้มาก ควรจะหาหุ้นที่รู้ใจ หุ้นทำเงินเก็บไว้สัก 5-10 ตัวเป็นขาประจำที่เราเล่นตลอดต่อเนื่อง ยิ่งนานวัน เราจะเข้าใจจังหวะ เข้าใจแนวโน้มและพฤติกรรมปริมาณซื้อขาย มันจะทำให้ ความเสี่ยงลดลง เราได้กำไรจากหุ้นพวกนี้ดีและต่อเนื่องครับ


5. ทำกำไรต่อเนื่อง
การบริหารพอร์ตการลงทุน การได้กำไรในหุ้นแต่ละตัวที่เทรดอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ มากเท่ากับการได้กำไรที่ต่อเนื่อง หลายคนโดนความโลภครอบงำอยากได้กำไรครั้งละเยอะๆเร็วๆ ทำให้พลาดหมดตัวก็มีมาก การได้กำไรจากหุ้นครั้งหลายเปอร์เซ็นต์ โดยที่เราต้องไปเสี่ยงเล่นตาม story หรือตามแรงเชียร์ มันยิ่งทำให้ผลงานแย่ลง และจะทำให้เราเสพติดความเสี่ยงและความโลภ สุดท้ายผลร้ายก็จะตกอยู่กับเรา 


พยายามลงทุนในหุ้นที่มีรอบการวิ่งที่ชัดเจน ต่อเนื่องเพื่อสร้างกำไรที่ยั่งยืน เช่นครั้งละ 10% ในรอบ 3 เดือนตามกระแสฟันโฟลว์เป็นต้น ยิ่งเรารักษารูปแบบการเติบโตให้ต่อเนื่องได้การขยายพอร์ตด้วย leverage เช่นการใช้มาร์จิ้น ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ


6. ประเมินผลการเติบโต
การจะบอกว่าเราประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องเป็นการวัดกันระยะยาว เช่นรายปี นักเก็งกำไรที่แสวงหากำไรทุกวัน ทุกสัปดาห์ เป็นเรื่องปกติ แต่ทุกครั้งควรมองภาพกว้างว่าในปีนี้เราได้กำไรสะสมที่ชนะตลาดหรือไม่ ทรัพย์สินในพอร์ตเพิ่มพูนจากปีก่อนหน้า ไปเท่าไหร่ และมีอัตราการเติบโตเป็นอย่างไร พวกนี้เป็นเรื่องของประสิทธิภาพการเทรดหุ้น ถ้าตัวเลขออกมาแย่พอร์ตโตบ้าง หดบ้าง หรือเทรดหุ้นมาหลายปีแต่แพ้ตลาด สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกเหตุที่เราควรนำมาพิจารณาปรับปรุงตัวเอง ก่อนจะสายไปครับ


ตัวอย่างการทำกราฟประเมินผลกำไร

เทคนิคเบื้องต้น 6 ข้อนี้เป็นเทคนิคที่ผมใช้ปัจจุบัน เพื่อบริหารพอร์ตเก็งกำไรของตัวเองให้เติบโตไป สิ่งเหล่านี้ในช่วงแรกใช้เวลาในการศึกษาและพัฒนาโมเดลและกลยุทธที่นาน แต่เมื่อสร้างมาได้ถูกทางแล้ว เมื่อเข้าใจแล้ว การปล่อยให้มันดำเนินต่อไปมันจะไม่ยาก อุปมาเหมือนกันการหัดขี่จักรยานที่ตอนแรกอาจจะยากและเจ็บตัว แต่เมื่อเราขี่เป็นแล้วมันก็จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ขี่ครั้งต่อไปก็จะไม่ยากและไม่เหนื่อยแบบตอนเริ่มต้น  ครับ