ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความสำคัญของการบริหารจัดการเงิน

มีคำกล่าวของนักปราชญ์จีนท่านหนึ่งว่า ปัญหาทุกอย่างจะไม่เกิด ถ้าหากมีการบริหารจัดการ แต่ถ้ามองรอบๆตัวเราจะพบว่า เรากำลังรอให้ปัญหาเกิด และหาทางแก้ปัญหา แบบเฉพาะหน้าทีละปัญหา ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การแก้ปัญหาหนึ่งกับไปสร้างปมปัญหาที่สอง ที่สามตามมา อีกไม่รู้จบ ถ้านึกไม่ออกลองมองปัญหาต่างๆในสังคม หรือจะเอาเรื่องน้ำท่วม มาเป็นกรณีศึกษาก็ได้ครับ จะพบเลยว่า ปัญหามันไม่ได้ถูกขจัดออกไป หรือถูกจัดการโดยแท้จริง แต่กับเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตไปเท่านั้น



นักปราชญ์หรือคนที่มีปัญญา เขาจะให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการมากกว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผมเอาเรื่องนี้มาพูดเพราะในโลกของการลงทุน เรามีโอกาสจะพบปัญหาต่างๆมากมาย สารพัด แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เราล้มเหลว นั้นคือ ความเสี่ยง ดังนั้นการบริหารจัดการเงินทุน นั้นก็คือ เครื่องมือสำคัญในการลดความเสี่ยง หรือจำกัดวงของความเสี่ยง ให้เบาบางลง (แน่นอนว่าคงไม่สามารถทำให้หมดไปได้) 

ผมเองพบว่านักลงทุนในหุ้น ส่วนใหญ่มักชอบและเพลิดเพลินต่อกำไร สนุกกับการได้เงิน จนมุ่งไปหาแต่หนทางทำกำไรสูงสุด จากนั้นก็นำผลที่ได้มาอวดกัน ได้ค่ากับข้าวเท่านั้นเท่านี้ ได้กำไรหลายหมื่นหลายแสน พอเราตั้งเป้าโฟกัสไปที่กำไร วิธีคิดมันจึงผิดตั้งแต่นั้น เพราะนักลงทุนหรือนักเก็งกำไร มีความโลภ ความอยากรวยเป็นเชื้อในใจกันทุกคน(แต่ความสามารถในการควบคุมต่างกันไป) ดังนั้นส่วนใหญ่ก็มุ่งไปแต่การหากำไร ไปบูชาคนที่ให้หุ้นเทพ หุ้นเด่น บูชาคนที่เดาหุ้นเก่ง (แท้จริงแล้วมันก็คือการเสพอคติที่เขามี ถูกหรือผิดเขาเหล่านั้นไม่ได้กำหนดผลมันเป็นไปตามหลักความน่าจะเป็น) 

หลายครั้งก็ไปติดกับภาพลักษณ์ หรือสิ่งที่คนอื่นๆว่าดี โดยปราศจากความเข้าใจแท้จริง หลงไปศึกษาเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคอลแบบเอาเป็นเอาตาย เพื่อหวังที่จะเก่ง หวังจะเป็นเทพทำกำไรได้ครั้งละมากๆแบบคนอื่น ถ้าถามผมว่ามันผิดไหม คำตอบผมคือไม่ผิดแต่ไม่ถูก เพราะสิ่งนั้นมันอาจจะทำให้เราเก่ง อ่านกราฟได้ มีตรรกะในการอธิบายหรือดู โดดเด่นจากคนอื่นที่ไม่มีความรู้ แต่มันไม่ได้ทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ถ้าเรายังไม่สามารถเอาชนะจิตใจตนเอง หรือวางแผนควบคุมจัดการความเสี่ยงได้เป็น

เมื่ออัตราการอยู่รอดเราต่ำ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางการลงทุนไม่ว่าจะแนวทางใดจึงเป็นศูนย์ คนประเภทนี้อาจจะทำกำไรได้มาก ในช่วงเวลาหนึ่งแต่แล้ว ในช่วงขณะเวลาต่อมาเมื่อเขาพลาดโอกาสที่ผลกำไรที่ได้มานั้นจะหมดไปก็มีมากเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับนักพนันที่คืนหนึ่งอาจจะได้อาจจะชนะให้ดีใจ แต่สุดท้ายคืนอื่นๆหรือระยะยาวก็จะเสียเงินหมดตัวให้กับเจ้ามือไป 

ผมมีตัวอย่างนักเก็งกำไรท่านหนึ่ง เรียนรู้เทคนิคอลอ่านกราฟได้ เข้าตลาดปี 2553 เป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นขาขึ้น fundflow ต่างชาติไหลเข้าเพราะตลาดฟื้นหลังวิกฤตซับไพร์มปี 2551 บวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก QE1 และ QE2 จากประเทศสหรัฐอเมริการที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาด TIPS มากมาย จะดันดัชนี SET ขึ้นไปแบบต่อเนื่อง เขาคิดว่าเขาเป็นเซียนจับหุ้นอะไรก็รวย จับหุ้นอะไรก็กำไร แต่พอมาไตรมาส 3 ปี 2554 ตลาดหุ้นดูจะไม่ง่ายเหมือนก่อน วิ่งสลับย่อ ย่อสลับวิ่ง บวกกับช่วงนั้นมีข่าววิกฤติหนี้สินยุโรป ทำให้อะไรที่เคยง่าย กลายเป็นยาก จากที่เคยได้กำไรมา ทำให้เขาขาดทุน ยิ่งขาดทุนยิ่งอยากเอาคืน พยายามทุ่มแก้มือ ดึงมาร์จิ้นมาใช้ ยืนเงินครอบครัว หวังเอาคืน คิดว่าที่ตนเองเสียเพราะเจ้ามือโกง เพราะดวงไม่ดี(เป็นอาการโทษทุกอย่าง โทษคนอื่นๆ ยกเว้นตัวเอง) สุดท้ายจากกำไรเป็น 100% พอร์ตพังทลาย ขาดทุนหมด ตัว ติดลบเป็นหนี้ จนต้องหันหลังออกจากตลาดหุ้นไป



ดังนั้น การวิเคราะห์ทางเทคนิค อย่างเดียวไม่ใช่คำตอบทั้งหมด การที่เราจะมุ่งมั่นแต่เรื่องที่ยากเช่นการวิเคราะห์ทางเทคนิค ก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเทียบความสำคัญในกลไกการลงทุนนั้นคิดเป็นสัดส่วนแค่ 10% ของทั้งหมด (แต่มีเนื้อหารายละเอียด และต้องใช้เวลาศึกษามาก) 


การหลงไปกับเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคมากไป บางครั้งก็เป็นอุปสรรค์ในการพัฒนาทักษะในการเทรดหุ้นของเราได้ เพราะทำให้กลายเป็นคนที่ยึดติด และยิ่งใช้โดยไม่ศึกษาให้เข้าใจจะยิ่งส่งผลร้ายตามมา การเป็นเซียนหรือเทพทางเทคนิคนั้น มันอาจจะทำให้เป็นได้แค่เพียง “ทหารเอก” ที่ดูเด่น ดูเหนือกว่า ทหารอื่นในสมรภูมิ แต่การเข้าใจเทคนิคอล และสามารถล้ำลึกในการบริหารจัดการเงิน สามารถวางแผนจัด Position Size ของเงินที่ลงทุนหรือจะเทรดให้เหมาะสมกับโอกาสและความเสี่ยง ย่อมจะทำให้ เราเป็น ขุนพล เป็นแม่ทัพ ที่วงแผนการรบและใช้ยุทธวิธีชนะข้าศึก โดยที่กองทัพอยู่รอด นี่แหละครับ ความสำคัญของ "การบริหารจัดการเงิน"