ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ไม่มีคำว่าบังเอิญ

รอบตัวเรา เรามักจะพบคนที่ประสบความสำเร็จปะปนอยู่เสมอ ทั้งแบบที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ ประสบความสำเร็จระดับวงการวิชาชีพ หรือแม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุน การเรียนรู้จากคนเหล่านั้นผมว่า เป็นเรื่องดี เพราะโลกนี้ มันไม่หรอกครับ เรื่องความบังเอิญ


บังเอิญรวย บังเอิญผลิตสินค้าแล้วขายดี บังเอิญทำธุรกิจแล้วร่ำรวย มีชื่อเสียง หรือแม้แต่ในแวดวงนักลงทุน ที่ประสบความสำเร็จ คนเหล่านั้นเขาไม่ได้มาจากความบังเอิญ ไม่ใช่ว่ามายืนจุดนี้ได้จากการจับฉลากหรือเสี่ยงเซียมซีได้เลขสวย ผมยังจำคำที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสอนได้ว่า คนที่เก่ง คนที่รวย คนดี คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพราะความบังเอิญ

ส่วนตัวผมเองชอบอ่านหนังสือ เรียกว่าอ่านมากกว่าเขียนหลายเท่านัก หนังสือประเภทหนึ่งที่ผมชอบมากคือ หนังสือ อัตชีวประวัติ ของบุคคลสำคัญ ทั้งระดับโลก และในระดับประเทศ ยิ่งตอนนี้หากินกับการลงทุน ก็จะชอบอ่านชอบศึกษาประวัติของนักลงทุนและนักเก็งกำไร คนสำคัญมากเป็นพิเศษ 

นักลงทุนหรือนักธุรกิจ หลายคนที่ผมศึกษาเกือบ 80% ไม่มีคำว่าบังเอิญหรือฟลุ๊ค คนเหล่านั้นมาจากศูนย์ สร้างตัวเอง พัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จ เขาผ่านวิกฤติของชีวิตมากมาย เผชิญปัญหาหนักๆ ผ่านความล้มเหลว มานับไม่ถ้วน ซึ่งหล่อหลอมให้เขามีวันนี้ กลายเป็นของจริงได้ 

ส่วนอีก 20% เส้นทางอาจจะไม่หินมากเท่ากลุ่มแรก คนในกลุ่มนี้มี แรงหนุน มีข้อได้เปรียบบางอย่างที่คอยช่วย เช่น ฐานะทางบ้านดี, หน้าตาดี , ครอบครัวส่งเสริม สนับสนุน หรือมีเครือข่าย เป็นต้น แต่คนใน 20% ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับคนกลุ่มแรก เพื่อที่จะลิ้มรสความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือมีคนมาอุปถัมภ์ 

ส่วนใหญ่คนที่ได้อะไรมาง่ายๆ มีคนมาประเคนล้วน ถ้าไม่มีความสามารถ ไม่เก่งจริงสุดท้ายก็ไปไม่รอด ล้มเหลวทั้งนั้น ตัวอย่างชัดเจนเช่นในเรื่องราวของ เจ้าสัวสามรุ่น ที่ทายาทรุ่นสอง รุ่นสามมักทำธุรกิจ กิจการเจ๊งมาแบบนักต่อนักแล้วเพราะขาดความสามารถในการรักษา คนที่เป็นของจริงประสบความสำเร็จ จากความสามารถจริงๆ เราจะดูออก ระยะเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์แต่ถ้าพวก มาเร็วไปเร็ว พวกนี้คือ ของปลอม

ดังนั้นถ้าเราเห็นใครที่ประสบความสำเร็จ อย่าไปคิดว่า คนเหล่านั้นฟลุ๊ค หรือ บังเอิญ จงตั้งสติ ใช้ปัญญามองสิ่งที่เขาทำ มองเส้นทางที่เขาผ่าน เราจะพบ กลยุทธหรือวิธีการในการดำเนินกิจการ ในการสร้างโอกาส รูปแบบการเตรียมความพร้อมให้ตัวเอง  รวมถึงวิธีจัดการกับอุปสรรค์และความล้มเหลว ซึ่งถ้าเราเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้อย่างเข้าใจ ก็จะเกิดประโยชน์กับตัวเอง


ตัวอย่างของความไม่บังเอิญอันหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ เรื่องของเศรษฐีหนุ่มนักลงทุน ที่มาจากสลัมค่ายอพยพ ชาวศรีลังกา คุณ Chamath Pali Hapitiya คนนี้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ มาจากครอบครัวที่ยากจน จากประเทศศรีลังกา โดยทั้งครอบครัวเป็นผู้อพยพ ลี้ภัยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แคนนาดา ชีวิตในวัยเด็กยากจน ถ้าเทียบกับมาตรฐานปกติของคนแคนนาดา แม้จะย้ายมาอยู่ในแคนนาดาแต่  Chamath ก็ยังใช้ชีวิตแบบพลเมืองชั้นสองในค่ายอพยพ ด้วยความมานะ อยากจะรวย อยากมีชีวิตที่ดี ทำให้ Chamath ขยันเรียน ทำให้เขาได้ทุนการศึกษา จนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศกรรมไฟฟ้า ระหว่างเรียนก็ทำงานพิเศษ เก็บเงินและหาช่องทางทำธุรกิจ 

Chamath จบปริญญาตรีแล้วได้เข้าทำงานด้านการเงินการลงทุน ในตลาดหุ้นและอนุพันธ์ของอเมริกา ด้วยความสนใจในตลาดหุ้นเป็นทุนเดิม โดย ทำงานเป็น Derivatives Trader และนักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ BMO Nesbitt Burns ประมาณ ปีกว่าๆใน ในปี 2001 คุณ Chamath ก็ได้ออกจากบริษัท หันมาทำงานด้านคอมพิวเตอร์ IT ในบริษัทเกี่ยวกับโปรแกรมฟังเพลงและระบบบริการเพลง เช่น Winamp และ Spinner.com

Chamath Pali Hapitiya

จากนั้นก็ย้ายมาทำงานที่ AOL ดูแลสายงานบริหารในตำแหน่ง Vice President และ General Manager จนถึงปี 2005 หลังวิกฤติฟองสบู่ดอทคอม ของอเมริกา คุณ Chamath มองเห็นโอกาสของการเติบโตของบริษัท IT ในซิลิกอนวัลเลย์ ปี 2006 คุณ Chamath ก็ได้เข้ามาทำงานกับ Venture Capital(VC) ชื่อ Mayfield Fund ซึ่งลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ ด้าน เทคโนโลยีและ ไอที ชื่อดังหลายกิจการ ปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ที่บริหารสูงถึง $2.8 billion ครอบคลุมกิจการหลายอย่างเป็นกองทุนขนาดใหญ่อันดับที่ 13 ของอเมริกา โดยแกรับตำแหน่งเป็นนักวิเคราะห์ และที่ปรึกษาด้านการลงทุนของบริษัท มองหาบริษัทเกิดใหม่ด้านอินเตอร์เน็ต มีเดียและ IT สำหรับการลงทุน

จากนั้นก็ได้เข้ามาทำงานกับ Facebook ตำแหน่ง vice president จนปี 2011 เขาได้ลาออกจาก facebook มาตั้ง Venture Capital(VC) ของตัวเองชื่อ The Social+Capital Partnership และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุน มูลค่าเงิ
นลงทุน $300 million ซึ่ง คุณ Chamath ถือหุ้นกองทุนถึง 20% มูลค่าประมาณ $60 million และยังมีผู้ถือหุ้นในกองทุน ชื่อดังคนอื่นๆอีก


อาทิเช่น Adam D’Angelo (ผู้บริหารเก่าของ facebook และเป็น Founder & CEO of Quora ), Kevin Rose เจ้าของเว็บข่าวบนโซเซียลมีเดีย Digg.com, Charles Coleman( hedge fund manager ของ Tiger Global Management) และ Joe Hewitt ผู้เริ่มพัฒนาโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ Firefox ซึ่งกองทุนนี้ก็จะ เน้นไปที่การลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยี, สุขภาพ, การศีกษา และ บริการทางการเงิน 

ปัจจุบัน Chamath ในวัย 34 ปีก็ยังไล่ตามความฝันอย่างไม่หยุด แม้เขาจะกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน เป็นผู้จัดการกองทุน ที่มีชีวิตที่ดีกว่าเด็กยากจนในครอบครัวอพยพแต่ก่อนมาก ชีวิตแบบนี้น่าศึกษาครับ เพราะการที่มาถึงวันนี้ได้คนเหล่านี้ ต้องผ่านอุปสรรค์ ต้องเอาชนะตัวเอง และทำอะไรมากมาย ถึงจะประสบความสำเร็จในสายตาของคนทั่วไป เรียกว่า ไม่มีคำว่า "บังเอิญ"

นอกจากเป็นนักลงทุน แล้วคุณ Chamath ยังเป็นเซียนโป๊กเกอร์ระดับโลกอีกด้วย

คนที่ชอบยกเหตุผลว่าคนที่ประสบความสำเร็จ มาจากความบังเอิญ ส่วนใหญ่มักมีปมในใจ ปมที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในชีวิต กลายเป็นคนขี้อิจฉา คนพวกนี้ก็จะจ้องหาเรื่องจับผิด จ้องโจมตี หรือแม้แต่ส่อเสียดคนที่ประสบความสำเร็จเสมอ เรียกว่าเวลาเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ พูดหรือทำอะไรไม่ได้ ก็จะต้องเข้าไปแย้ง ไปขัดเสมอ

ตัวอย่างมีให้เห็นในสังคม เวลานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จออกมาทำอะไรดีๆช่วยเหลือคนอื่นๆ ก็จะมีคนมาโจมตี มากว่าหาว่าสร้างภาพ ทำเอาหน้า ช่วยเหลือแบบไม่ได้แก้ปัญหา ทั้งที่หลายครั้งคนพูดก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดในสิ่งที่คนเหล่านี้ทำ และร้อยวันพันปีตัวเองก็ไม่เคยคิดจะทำอะไรดีๆแบบนี้

ดังนั้นถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ ก็จงอย่าไปติดกับคำว่า บังเอิญ หรือเชื่อในโชคชะตา (ประมาณว่ารวยเพราะโชคดี) ไม่ว่าจะทำอะไร จะทำงาน ทำธุรกิจหรือลงทุน อย่าไปอิจฉาริษยาคนที่ดีกว่าเรา แต่จงเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในด้านนั้นๆ พยายาม ตั้งใจทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่ายอมแพ้ เพื่อที่วันหนึ่ง เราสามารถไปถึงจุดหมายปลายทาง ได้ลิ้มรสความสำเร็จ ในสักวันครับ


อ้างอิงจาก
http://dealbook.nytimes.com/2011/10/06/in-flip-flops-and-jeans-the-unconventional-venture-capitalist/