ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Nicholas Darvas

มีโอกาสกลับไปอ่านหนังสือ ของ Nicholas Darvas อีกรอบเลยคิดว่าเป็นการดีถ้าจะเขียนถึงประวัติชีวิตในตลาดหุ้นบนเส้นทางการลงทุนของคุณ Nicholas Darvas นักลงทุนสาย Techno-Fundamentalist เจ้าของ Darvas BOX Theory ผู้โด่งดังสักหน่อย ผมเองศึกษาเทคนิคและวิธีคิดของ คุณ Nicholas Darvas มานานพอสมควร เขาเป็นคนที่มีแนวคิดและมุมมองที่น่าสนใจมากในการลงทุน และที่สะดุดตาต้องใจ ตรงที่คุณ Nicholas เขาไม่ได้เป็นนักลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่เขายังทำสิ่งที่ตนเองรักคือการเป็นนักเต้นรำลีราศ(Dancer) มืออาชีพ ควบคู่ไปอีกด้วย

คุณ Nicholas เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จระดับเศรษฐีเงินล้านจาก Wall Street ผู้ที่ลงทุน ทำเงิน 25000 เหรียญไปเป็น 2250000 เหรียญในเวลา 3 ปี และเขายังเป็นผู้ที่เขียนหนังสือ ยอดนิยมเล่มหนึ่งในหมวดการเงินการลงทุนหนังสือนั้นคือ "How I Made $2,000,000 in the Stock Market" ที่พิมพ์ซ้ำหลายสิบครั้งขายไปแล้ว 500000 เล่ม เป็นหนังสือที่ออกมาตั้งแต่ปี 1960 แนวคิดและระบบการลงทุนของเขา ยังคงเป็นที่นิยมและมีการนำมาใช้กันมากมายในปัจจุบัน


เขา เกิดและโตที่ Hungary เรียนจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Budapest พอยุคที่โซเวียตเข้ายึดครอง ตอนอายุ 23 ปีเขาก็ออกจาก Hungary ไปตุรกีและอพยพมาอเมริกาในปี 1951 ขณะนั้นเขาและน้องสาว Julia เป็นนักเต้นอาชีพที่ออกเดินสายแสดงและแข่งขัน

เส้นทางการลงทุน
เขาเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นนักลงทุนเต็มตัว ในปี 1952 เขาได้เงินจากไนท์คลับที่จ่ายค้าจ้างก้อนใหญ่เป็นเงินสดค่าแสดงรวมกับเงินเก็บจำนวน 3000 เหรียญ และได้เข้าซื้อหุ้นตัวแรกคือ Brilund หุ้นเหมืองสัญชาติแคนาดา สองเดือนต่อมา ราคาหุ้นพุ่งไปเกือบ 3 เท่า ทำให้ Nicholas มีกำไรจากการซื้อหุ้นครั้งนั้น เขาจึงสนใจและมุ่งมั่นที่จะเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น



แต่แน่นอนว่า ตลาดหุ้นไม่เคยง่ายและปราณีใคร  Nicholas ก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ต้องได้รับบทเรียน เขาต้องการทำกำไรได้มากๆ จึงใช้มาร์จิ้นในอัตราเกือบ 50% เทรดหุ้นเหมือนเป็นการพนัน เข้าซื้อหุ้นตามข่าวลือ ตามโบกเกอร์ และคำแนะนำของกูรูในห้องค้า ทำให้เข้าต้องพบกับการขาดทุน มากกว่ากำไร สลับกันไป โดยเฉพาะการขาดทุนครั้งใหญ่ ที่เขาบอกว่าไม่มีวันลืม นั้นคือการเข้าซื้อหุ้น Jones and Laughlin ในปี 1955 ที่เขาเชื่อมั่นว่าเป็นหุ้นที่ดี มีค่า PE ไม่สูง อัตราปันผลดี อุตสาหกรรมเติบโต และมีคนนิยม เขามั่นใจในการลงทุนครั้งนี้มาก ถึงกับทุ่มเงินลงทุนมากกว่า 50000 เหรียญโดยใช้มาร์จิ้น แต่แล้ว ไม่กี่เดือนต่อมา ราคาหุ้นร่วงลดลงมาเกือบ ครึ่งจากราคาต้นทุน ครั้งนั้นทำให้เขาขาดทุนอย่างมาก มูลค่าของพอร์ตลดลงมาเหลือเพียง 9000 ดอลล่าห์ 



ค้นพบสัจธรรม
การขาดทุนหนักครั้งนั้น ทำให้เขาเข้าใจว่า ไม่มีใครสามารถคาดเดาตลาด หรือล่วงรู้อนาคตได้แน่นอน ทำให้เขาถอยออกมาจากตลาด และคิดทบทวนวิธีการลงทุน ใหม่ทั้งหมด ประกอบกับช่วงปี 1956 เขาได้ออกเดินสายแข่งเต้นรำและแสดงเต้นลีลาศ (Ballroom Dance) ทั่วประเทศและในยุโรป โดยเขาใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือ ทบทวนวิธีการลงทุน 

ตอนนั้นเขายังคงลงทุนในหุ้น โดยส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นทางโทรเลขหรือจดหมาย การออกนอกห้องค้า และกลุ่มเพื่อน โบรกเกอร์ จากนิวยอรค์ทำให้เขามีเวลา ในการศึกษาทบทวนตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเลือกหุ้น การวิเคราะห์หุ้น โดยปราศจากอคติและอิทธิพลจากหมู่เพื่อนนักลงทุน ทำให้เขามองตลาดหุ้นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ระหว่างเดินสายทัวร์เขายังคงติดตามราคาหุ้น และยังคงค้นหาหุ้น กิจการดีๆเพื่อมาลงทุน โดยเขาใช้ข้อมูลจากหนังสือ Baron's Magazine และ Wall Street Journal หลังจากกลับไปนิวยอร์คอีกครั้งในปี 1959  Nicholas สามารถทำกำไรจากการลงทุนถึง 500000 เหรียญ ทำให้หลายคน สนใจและกล่าวถึงการพัฒนาฝีมือของเขาอย่างมาก 

ช่วงยุคทอง
ในช่วงยุค 1958 - 1960 เป็นช่วงตลาดกระทิง และเป็นช่วงที่ดีที่สุดในชีวิตการลงทุนของเขา  Nicholas ได้กำไรจากการลงทุนในช่วงสามปีนี้ เป็นจำนวนมาก เขายังคงยึดมั่นในระบบการลงทุนของเขา ที่เรียกว่า Dravas Box System อย่างต่อเนื่อง ทำให้พอร์ตลงทุนเขาโตถึงระดับ $2,450,000.00 เหรียญ เขาได้กำไรจากหุ้นหลายตัวด้วยแนวคิดการเลือกหุ้นและหาจังหวะซื้อหุ้นที่ดี หลังจากปี 1960 เขาได้เขียนหนังสือ "How I Made $2,000,000 in the Stock Market" ถ่ายทอดแนวคิดการลงทุนแบบ Dravas Box System  ของเขาออกจำหน่าย ซึ่งกลายเป็นหนังสือการลงทุนชื่อดัง ยอดนิยมในยุคนั้น



แนวคิดการลงทุน
คุณ Nicholas Darvas บอกชัดเจนว่า เขามิใช่นักเก็งกำไร เขาเป็นนักลงทุนสาย Techno-Fundamentalist คือใช้ทั้งทักษะและความสามารถในการเลือกหุ้น หาหุ้นที่ดีเพื่อลงทุน จากนั้นถึงจะมาพิจารณาจังหวะการเข้าซื้อ และวางกลยุทธให้สอดคล้องกับภาวะตลาด  เขามีแนวคิดที่ชัดเจนคือการหลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดหมี หรือภาวะแนวโน้มขาลง ต่างจากการนักลงทุนคนอื่นที่ชอบของถูกของลดราคา เขาบอกว่าการเข้าซื้อหุ้นช่วงตลาดหมี ยากต่อการทำกำไรมีโอกาสขาดทุนสูง เขาจะเลือกที่จะลงทุนในช่วงตลาดกระทิง ช่วงที่อารมณ์ตลาดเป็นบวก การซื้อขายคึกคักตลาดมีวอลุ่ม

คุณ Nicholas มีแนวคิดการลงทุนที่ชัดเจนคือ การเลือกที่จะวิเคราะห์หุ้นเองแทนการฟังหรืออ่านจากบทวิเคราะห์และซื้อตามแบบ นักลงทุนคนอื่นๆในตลาด เขาจะไม่เลือกซื้อหุ้นที่โบรกเกอร์ หรือเพื่อนๆ นิยม เขามักจะมองหาหุ้นเด่น โดยพิจารณาจากลุ่มอุตสาหกรรม ที่กำลังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นและมีอนาคตเป็นหลัก และหาหุ้นดาวเด่น ที่มีอนาคตการเติบโต พื้นฐานดี มี story ในอนาคต โดยเข้าจะเข้าซื้อที่ราคาไม่แพงมากเกินไป แบบเป็นช่วงๆ เริ่มต้นซื้อเมื่อราคาหุ้นมีการขยับตัวทะลุราคาที่เขาวางกรอบไว้ นิคนิยมใช้กราฟ week เป็นตัวหลักในการพิจารณาการเคลื่อนที่ของราคา ที่สำคัญเมื่อซื้อหุ้นแล้ว เขาจะมีจุด Stoploss เสมอ เมื่อผิดพลาดเขาจะไม่ลังเลที่จะขายออกมา เมื่อราคาเคลื่อนไป ก็จะขยับ Stoploss ตามไปเรื่อยๆ และจำทำกำไรจนกว่าหมดรอบแนวโน้มใหญ่



แนวคิดของเขา สมัยนั้นถือว่าค่อนข้างใหม่ ไม่มีนักลงทุนนิยมมากนัก แต่เขาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การเล่นตามระบบ การมีวินัยสามารถทำให้เขาทำกำไรได้จริง เมื่อตลาดมีแนวโน้มเป็นบวกและสดใส เศรษฐกิจดี อุตสาหกรรมเติบโต เขาก็สามารถสร้างกำไรได้อย่างงาม นิคอธิบายความสัมพันธ์ของตลาดหุ้น ราคา และอารมณ์ของนักลงทุนไว้อย่างน่าสนใจ เขามองภาพรวมได้ชัดเจน และเฉียบคม

เขาเองนิยมใช้มาร์จิ้น ตามระดับความมั่นใจในการวิเคราะห์หุ้น แต่เขาจะไม่ลงทุนระยะสั้นรายวัน และไม่ทำการ ซ๊อตหุ้น หรือซื้อขายหุ้นในช่วงแนวโน้มขาลงเป็นอันขาด ในยุค 1953 - 1958 เป็นช่วงที่เขาทำการศึกษาและทดลอง แนวคิดของเขาอย่างหนัก มีการปรับปรุง และพัฒนาระบบการลงทุนจนเหมาะสม จนเขาแน่ใจใช้มันอย่างต่อเนื่องจริงจัง ในยุค 1958 - 1960 ถือเป็นยุคทองของเขา ตลาดกระทิงชัดเจน มีแนวโน้ม นิคสามารถทำกำไรได้อย่างมากมาย หลังจากกำไรมากขึ้นจนระดับล้านเหรียญ เขาได้ทยอยนำเงินที่ได้ย้ายไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดหุ้น เคล็ดลับการลงทุนอย่างหนึ่งที่เขาเน้นย้ำคือ การมีวินัย ยึดมั่นในระบบลงทุน ไม่พยายามออกนอกระบบไหลไปตามอารมณ์

ข้อโต้แย้ง
ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ส่วนใหญ่จะอ้างอิงประวัติมาจากหนังสือของ Nicholas Darvas แต่ในความเป็นจริง ก็มีหลายฝ่ายคลางแคลงใจกับสิ่งที่ นิคได้ถ่ายทอดและนำเสนอตัวเอง โดยเฉพาะช่วงปี 1961 คุณ Louis Lefkowitz จากสำนักอัยการรัฐนิวยอร์คออกมา ทำหนังสือเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเรื่องราวหนังสือของ Nicholas ไม่เป็นความจริง ไม่ควรเชื่อ ทั้งหมดเป็นการหลอกลวงนักลงทุนโดยเฉพาะประเด็นการทำเงินมากมายจากตลาดหุ้นในเวลา 18 เดือน เพราะเขาไม่สามารถทำเงิน 2 ล้านได้จริงจากตลาดหุ้น และยังปกปิดหนี้สินที่เกิดจากการขาดทุน นำมาซื้อเรื่องราวการโต้เถียงมากมาย โดยเฉพาะการปฏิเสธจากคุณ Nicholas แต่สุดท้าย คุณ Louis Lefkowitz ก็ไม่มีหลักฐานมากเพียงพอจะส่งฟ้องดำเนิน คดี เพราะไม่สามารถสอบทวนหา ตั๋วการซื้อขายหุ้น ของเก่าได้ แต่เรื่องราวครั้งนั้น ทำให้ จบลงที่ Nicholas Darvas ทำหนังสือสัญญาตกลงจะไม่ให้คำแนะนำหรือชักจูงในการซื้อขายหลักทรัพย์แก่นักลงทุน 

เรื่องนี้ ผมก็ไม่ทราบข้อเท็จจริง ว่าเป็นเช่นใด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือแนวคิด ของ Nicholas Darvas นั้นมีความเป็นจริง และสอดคล้องกับแนวคิดของนักลงทุนคนอื่นๆหลายคน เช่น Jesse Livermore หรือแม้แต่ William O'Neil นักลงทุนรุ่นหลัง เขายังยอมรับว่าได้อ่านหนังสือและใช้แนวทางของ Nicholas มาประยุกต์พัฒนาเพิ่มเติมในการลงทุนจนประสบความสำเร็จ 

อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ Darvas Box System นั้นได้ถูกพิสูจน์และนำมาใช้งานจริง จากนักลงทุนและเทรดเดอร์ ต่างๆมากมาย จนมันได้กลายเป็นโมดูลหลัก ที่อยู่ในโปรแกรมเทรดหุ้น แถบทุกค่ายในตลาด ยาวนานมาหลายสิบปี ตรงจุดนี้ ยังไม่มีใครนำหลักฐาน หรือผลการทดลอง มาหักล้าง  Darvas Box Theory ได้ 

ดังนั้นผมคิดว่า แม้จะมีความไม่ชัดเจนในเรื่องที่อยู่ในหนังสือของเขา แต่แนวคิดและหลักการในระบบของ Nicholas Darvas นั้นไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นเรื่องหลอกลวงแต่อย่างใด การศึกษาเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่ไม่เสียหายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงครับ