ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Anti fragile Career

พอดีวันนี้ได้อธิบายตัวอย่างในหนังสือ Anti fragile ของคุณ nassim taleb ให้น้องเทรดเดอร์ฟัง เลยทำให้นึกถึงกรณีตัวอย่างจากหนังสือเรื่องของคนขับแท๊กซี่และเสมียนธุรการ ประเด็นใหญ่เรื่องการประกอบอาชีพก็ควร กระจายความเสี่ยง (diversification) เช่นกันกับการลงทุน เพราะมันคงไม่มีอะไรแน่นอนในอนาคต แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตหรือเงินเดือนสูง ความเสี่ยงก็มีได้เช่นกัน ลองเอาบทความเก่าในอดีตมาแชร์กันอีกรอบ สำหรับแนวคิดการสร้าง Antifragile Career


เรื่องราวของพี่คนหนึ่งเขาเป็นผู้จัดการแผนกของบริษัท เงินเดือนเกือบแสนแต่ต้องมาตกงานตอนวัย 45 เนื่องจากเจ้าของบริษัทขายธุรกิจให้ต่างชาติ ทำให้เจ้าของใหม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจและปลดพนักงานออก เขาก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยอายุที่มาก แม้จะยอมลดเงินเดือน หาต่ำแหน่งธรรมดา แต่การสมัครงานก็ทำได้ยาก ตกงานอยู่ 6 เดือนเงินเก็บหมด เพราะค่าใช้จ่ายมาก ภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต และค่าใช้จ่ายของครอบครัว(ภรรยาไม่ได้ทำงาน+ลูกวัย 2 ขวบ) เข้าเดือนที่ 8 เขาเลยตัดสินใจกลับบ้านต่างจังหวัด ขายบ้านหลังหลายล้าน(ผ่อน 20 ปี) ขายรถหรู เปลี่ยนมาเป็นรถกระบะ แล้วหันมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ทำกิจการของตัวเอง แม้รายได้ไม่มากเหมือนอดีต แต่เขาเองก็มีความหวังและมีความสุข กว่าอดีต การตกงานตอนแก่นี่เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดได้เสมอ อยากให้เราลองเรียนรู้จากเรื่องนี้
1. ไม่ควรมีอาชีพเดียว เราควรมีอาชีพที่สอง อาชีพที่สร้างบนความชอบ ความถนัดหรือความสนใจ หรือจะเป็นงานอดิเรก ควรใช้เวลาบางส่วนทดลอง ฝึกฝนและค้นหา อาจจะไม่ต้องทำอะไรใหญ่โตมากนัก เพราะ ไม่มีใครรู้เลยว่าอะไรจะเกิด แต่ถ้ามันเกิดตกงานตอนอายุมากอย่างน้อยก็จะได้ มีประตูสำรอง หรือร่มชูชีพ เผื่อเอาไว้
2. เงินเก็บเงินออม สำคัญมาก อย่ามัวแต่จ่ายค่าใช้จ่ายสังคม หรือซื้อสะสมสิ่งเกินจำป็นมากไป จนทำให้เงินสำรอง มันไม่พอไม่มีใครรู้หรอกครับว่าเราจะป่วยหรือจะตกงานเมื่อไหร่ เมื่อมันเกิดแล้ว มันใช้เงินจำนวนไม่น้อยและมีผลต่อรายได้หลัก ดังนั้นควรประหยัดอดออมให้ได้มากที่สุด และบริหารเงินอย่างฉลาดให้มันงอกเงยเหมาะสม
3. สร้างคอนเนคชั่นมากๆ ออกไปทำความรู้จักคนในแวดวงธุรกิจ หรือสายงานเยอะๆ เมื่อเกิดเหตุขัดข้อง หรือเกิดปัญหาตกงาน อย่างน้อยก็จะได้มีช่องทางอื่นๆช่วยเหลือเรา
4. รักษาสุขภาพ การทำงานประจำคือ เอาสุขภาพ เอาเวลา ไปแลกเงิน ถ้าใช้มาก ใส่เข้าไปมาก เราเสียเปรียบ เพราะสุขภาพและเวลา บางครั้งมันมีค่ามากกว่าเงินเดือน การไม่มีเวลาให้ครอบครัว บางโอกาสในชีวิต มันเสียแล้วอาจจะสูญเสียไปเลย หรือเรื่องสุขภาพ ใช้มากหักโหมมาก สุดท้ายยามมันเสียหาย เราก็ต้องเสียเงินรักษาและ มันอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต หรือรุนแรงจนเป็นโรคเรื้อรังเป็นภาระให้ครอบครัว แพงเกินกว่าทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้
เรื่องพวกนี้ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย แต่มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดได้เสมอกับใครก็ได้ ซึ่งบางครั้งการไม่มีแผนรับมือที่ดี มันจะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ และรุนแรง เกิดวิกฤติการงาน การเงิน ส่วนบุคคล จนอาจจะลามไปถึงปัญหาครอบครัวได้ ดังนั้นอย่าประมาท ยิ่งอายุเลยหลัก 30 เริ่มมีครอบครัว มีภาระต่างๆเราควรเตรียมทางออกฉุกเฉินไว้เสมอนะครับ